นายกฯ เตรียมลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี 13 ก.พ. นี้ ตรวจเยี่ยมพื้นที่บริหารจัดการน้ำ อ.ไชยา-เปิดงานมหกรรมว่าวสุราษฎร์ธานี โปรโมตการท่องเที่ยวสุราษฎร์ฯ หวังให้เป็น Soft power สร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทย-ต่างชาติ ส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ
10 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้
เวลาประมาณ 13.30 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 7 ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตำบลเวียง อำเภอไชยา เพื่อสักการะบูชาพระบรมธาตุไชยา นมัสการพระครูพิทักษ์เจติยานุกูล เจ้าคณะอำเภอไชยา รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่ว่าการอำเภอไชยา เขตเทศบาลตำบลตลาดไชยา เพื่อตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่อำเภอไชยา และปัญหาที่ดินทำกิน โดยนายกรัฐมนตรีจะตรวจเยี่ยมบริเวณน้ำท่วมหน้าอำเภอไชยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มรับน้ำจากตำบลเวียง ก่อนออกสู่ทะเล และประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอด
และเป็นประธานสักขีพยานการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ได้แก่ เขตปฏิรูปที่ดินโครงการป่าชนะ อำเภอไชยา และเขตปฏิรูปที่ดินโครงการป่าใสท้อนและป่าคลองโซง อำเภอชัยบุรี พร้อมพบปะกับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนด้วย
จากนั้นเวลาประมาณ 18.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดงานมหกรรมว่าวสุราษฎร์ธานี (Suratthani Kite Festival) ณ บริเวณหาดนายอำเภอ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทางกลับถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ในเวลาประมาณ 21.00 น. ทั้งนี้ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการไปตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่อำเภอไชยา และปัญหาที่ดินทำกิน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้ประเพณีการเล่นว่าวของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว และของดีจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เป็นที่รู้จัก
หวังให้เป็น Soft power สร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัดสุราษฎร์ธานี” นายอนุชา กล่าว