ในร่างกายคนเรา จะประกอบไปด้วยเซลล์หลายล้านล้านเซลล์ แต่ละเซลล์จะมีรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า DNA ซึ่งเป็นรหัสที่ถูกถ่ายทอดมาจากครอบครัว ทำให้แต่ละคนมีลักษณะแตกต่างกัน เนื่องจากมีปัจจัยทางพันธุกรรมแตกต่างกัน เช่น บางคนอาจผิวไวต่อแสงแดด หรือเกิดผิวแพ้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป หรือบางคนอาจจะต้องการปริมาณวิตามินบางอย่างมากกว่าคนอื่นๆ
แพทย์หญิงอัญชลี ศรีมโนทิพย์ แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่าการทำ Genetic Screening หรือการตรวจทางพันธุกรรม คือการตรวจรหัสพันธุกรรมเพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งมีปัจจัยทางพันธุกรรม ได้แก่
โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่
โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด AF โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันในเลือดสูง
โรคระบบประสาทและสมอง เช่น โรคหลดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคไมเกรน และภาวะซึมเศร้า
โรคติดเชื้อ เช่น คออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ วัณโรค และโรคงูสวัด เป็นต้น
โรคอื่น ๆ ที่พบบ่อย เช่น โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเอสแอลอี และโรคไตเรื้อรัง เป็นต้น
นอกจากนี้ การตรวจทางพันธุกรรม ยังสามารถบ่งบอกความเสี่ยงในการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือการตอบสนองต่อยาได้อีกด้วย รวมถึงกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม ระดับวิตามินที่ควรได้รับ ความต้องการสารอาหารในร่างกาย ความเครียด สุขภาวะทางเพศ การไวต่อมลภาวะต่าง ๆ การนอนหลับ
โดยการตรวจนี้เหมาะกับคนที่ต้องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล ซึ่งในกระบวนการตรวจทางพันธุกรรม จะใช้วิธีการเจาะเลือด เพื่อวิเคราะห์สารพันธุกรรม โดยใช้ระยะเวลาในการรอรับผลตรวจประมาณ 1 เดือน
“ทั้งนี้ การตรวจทางพันธุกรรม นอกจากจะช่วยให้เราทราบถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว ยังเป็นแนวทางในการปรับวิถีการดำเนินชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรค และป้องกันการเกิดโรคได้” แพทย์หญิงอัญชลีกล่าว