ปราบ “หมูเถี่อน” ต้องบูรณาการ สุขภาพคน-สุขภาพสัตว์-กลไกตลาด เป็นหนึ่งเดียว – พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์

ตลอดปี 2565 เป็นปีแห่งการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ของอุตสาหกรรมสุกรไทย หลังเผชิญโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ซึ่งเป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรแพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และระบาดในโลกนี้มาแล้วเป็นเวลา 100 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 เป็นปีที่เกือบทุกประเทศในทวีปแอฟริกามีการระบาดของโรคนี้ ถึงแม้ว่าโรค ASF จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ถือว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก เพราะทำให้สุกรที่ติดเชื้อป่วยและตายเกือบ 100%

สำหรับประเทศไทย นับเป็นการเกิดโรคระบาดในสัตว์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการการเลี้ยงสุกรสู่การยกระดับการป้องกันโรคด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ที่พิจารณาผลกระทบและประเมินความเสี่ยงหรืออันตรายต่อความปลอดภัยของสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์และความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการกำหนดมาตรการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มตามมาตรฐานสากล เช่น เลี้ยงในระบบโรงเรือนปิด วัตถุดิบต้องมาจากแหล่งที่ปลอดภัยเท่านั้น มีระบบฆ่าเชื้อรถขนส่งเข้า-ออก ฟาร์ม การจัดการกับแมลงพาหะ เช่น นก หนู และแมลง ไม่ให้เข้าสู่ฟาร์ม สร้างหลักประกันเนื้อสัตว์ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม โรคระบาด ASF ทำลายประชากรหมูไทยไปเกือบ 50% จากผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 20 ล้านตัวต่อปี เหลือที่รอดปลอดภัยจากโรคนี้เพียง 12.99 ล้านตัว โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่าผลผลิตทั้งปี 2565 อยู่ที่ 15.51 ล้านตัว ลดลง 19.28% และปี 2566 ผลผลิตจะเพิ่มเป็น 17.47 ล้านตัว หรือ เพิ่มขึ้น 12.66% สะท้อนความพยายามของเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิต แต่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการบริโภคที่คาดว่าจะมีประมาณ 1.30 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.58% ราคาจึงอาจจะยืนแข็งเป็นบางช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับผู้เลี้ยงยังต้องเผชิญต้นทุนผลิตสูงจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และปัจจัยการป้องกันโรคที่ปรับสูงขึ้น ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ผลกระทบที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ กองทัพ “หมูเถื่อน” ทั้งจากสหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา สเปน เนเธอร์แลนด์ ตลอดจนเวียดนามและกัมพูชา ที่ชายแดนเชื่อมต่อกัน เพราะราคาหมูไทยขณะนี้ล่อใจพ่อค้า-แม่ขาย และนักเก็งกำไรและกลุ่มทุน ที่ชอบขูดเลือดขูดเนื้อผู้บริโภค ไม่สนใจว่าหมูลักลอบนำเข้าเหล่านี้เต็มไปด้วยเชื้อโรคร้าย เพราะไม่ผ่านการตรวจสอบโรคและคุณภาพใด ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญของการแพร่ของโรคระบาดอีกครั้ง ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจซ้ำซาก ภาระกิจนี้ กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ เป็นเจ้าภาพในการปราบปราม แต่จนถึงขณะนี้ก็ยัง “คว้าน้ำเหลว” หาตัวการใหญ่ไม่พบ

นอกจากนี้ ยังมีข่าวดังก่อนสิ้นปี 2565 พบเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลินในถังขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งอาจจะเป็นเนื้อสัตว์ลักลอบนำเข้ารอการส่งมอบให้ร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสาน โดยกรมอนามัยออกมายืนยันว่า ฟอร์มาลิน เป็นสารห้ามใช้ในอาหารเพราะมีพิษต่อผู้บริโภคทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกจนถึงเสียชีวิตได้ กรมอนามัยจึงต้องออกแรงตรวจวัตถุดิบตามร้านอาหารดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
เห็นได้ว่า “หมูเถื่อน” สร้างผลกระทบที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจไทยโดยตรงในหลายมิติ การปราบปราม “หมูเถื่อน” จึงไม่ใช่แค่เพียงปราบหรือป้องกันไม่ให้เข้ามา และไม่ใช่หน้าที่ของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์เท่านั้น แต่จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มจาก กรมศุลกากร ตรวจสอบสินค้านำเข้าในตู้คอนเทนเนอร์ แบบตู้เย็น อย่างละเอียด หากเป็นสินค้าอาหารหรือซากสัตว์ต้องสำแดงให้ กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบเชื้อโรคและสารปนเปื้อนตามมาตรการควบคุมโรค

ขณะเดียวกัน กรมอนามัย ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบวัตถุดิบที่ร้านอาหารนำมาปรุงเป็นเมนูต่างๆ ไม่ให้มีการนำไปผ่านกรรมวิธีหรือใช้สารต้องห้ามเพื่อคงสภาพอาหารหรือเพื่อหวังเพิ่มผลกำไรโดยเอาเปรียบผู้บริโภค และสุดท้ายคือ กรมการค้าภายใน ต้องรักษาสมดุลกลไกตลาด สร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าขาย ติดตามราคาและตรวจสอบปริมาณสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ มาตรการควบคุมราคาหรือนำเข้าควรใช้เมื่อการผลิตสินค้าใดๆ เกิดวิกฤตขาดแคลนอย่างหนัก และไม่สามารถผลิตในประเทศได้อีกต่อไป เพื่อส่งเสริมระบบการผลิตด้วยราคาที่เป็นธรรม สินค้าจำเป็นไม่ขาดแคลน มีจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด ปล่อยให้อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) เป็นตัวกำหนดราคา เพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

Written By
More from pp
ธ.ก.ส. เตือนระวังอย่าหลงเชื่อ SMS หลอกลวงโอนเงิน
ธ.ก.ส. เตือนเกษตรกรลูกค้าและประชาชนทั่วไป ระวังมิจฉาชีพส่ง SMS แอบอ้าง ธ.ก.ส. แจ้งการโอนเงินผิดและระบุบัญชีให้โอนเงินคืน ขอหมายเลขบัตรประชาชน ขอเลขที่บัญชีเงินฝาก
Read More
0 replies on “ปราบ “หมูเถี่อน” ต้องบูรณาการ สุขภาพคน-สุขภาพสัตว์-กลไกตลาด เป็นหนึ่งเดียว – พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์”