ASF เปลี่ยนวิถีหมูไทยสู่มาตรฐานฟาร์ม

การประเมินผลกระทบของสุกรไทยจาก ASF ของ Krungthai COMPASS พบว่า 4 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงมาก คือ เชียงใหม่ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา โดยมีสัดส่วนเกษตรกร ผู้เลี้ยงรายย่อยร้อยละ 97.3, 97.2, 97.2, และ 93.7 ตามลำดับ สูงกว่าสัดส่วนผู้เลี้ยงรายย่อยเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 91.5 นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ความเสี่ยงสูง 43 จังหวัด อาทิ ขอนแก่น ราชบุรี นครปฐม และความเสี่ยงปานกลาง 29 จังหวัด เช่น พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการพิจารณาจากสัดส่วนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในแต่ละพื้นที่และสัดส่วนความหนาแน่น หรือปริมาณผลผลิตสุกรในแต่ละจังหวัดต่อจำนวนสุกรทั้งหมด

การฟื้นตัวของเกษตรกรในการกลับเข้าสู่ระบบการเลี้ยง หลังจากหยุดการเลี้ยงไป ให้สามารถผลิตสุกรได้เพียงพอกับความต้องการของตลาด จำเป็นต้องบูรณาการระบบการเลี้ยง ด้วยการยกระดับการเลี้ยงที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio-security) เพื่อให้สุกรที่เลี้ยงมีความปลอดภัย และปลอดจาก ASF ด้วยแนวทาง P-I-G ได้แก่ P-protect โดยต้องมีการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเพื่อป้องกันโรค, I-improve เร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และ G-government ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้เลี้ยงรายกลางและรายย่อย

เมื่อดูการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆในขณะนี้ ในส่วนของภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแนวทางส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย ด้วยการกำหนดพื้นที่นำร่อง Pig Sandbox หรือพื้นที่ควบคุมพิเศษ พร้อมอบรมให้ความรู้ด้านการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ควบคู่กับการอุดหนุนปัจจัยจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ และลูกสุกรขุนราคาถูก ตลอดจนสนับสนุนช่วยเหลือด้านการเลี้ยง การตลาดและแหล่งทุน

ขณะที่ภาคผู้เลี้ยง สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคต่างๆ ได้มุ่งเน้นให้ความรู้กับผู้เลี้ยงรายย่อยมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้จัดสัมมนา “หลังเว้นวรรค จะกลับมาอย่างไรให้ปลอดภัย” เพื่อการรับมือสถานการณ์ ASF ด้วยการป้องกันโรค ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกษตรกรควรเรียนรู้และเตรียมความพร้อมปูพื้นฐานความรู้ให้สามารถกลับมาเลี้ยงหมูได้อีกครั้งอย่างเข้มแข็ง

หากภาคการเลี้ยง โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยได้ปรับเปลี่ยนระบบให้มีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ผนวกกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ภาครัฐจะจัดสรรให้ มั่นใจเหลือเกินว่า จะช่วยให้มีสุกรที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยกลับเข้าสู่ระบบ

ความร่วมมือของทุกภาคส่วนนี้ นับเป็นการเติมเต็มความพร้อม ซึ่งจะช่วยยกระดับให้ฟาร์มเล็กฟาร์มน้อยต่างๆ มีระบบป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่มีความเหมาะสม หากดำเนินการอย่างรัดกุม

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นอีกสิ่งสะท้อนให้เกษตรกรได้ทราบถึงความสำคัญของการจัดการฟาร์ม และการป้องกันโรค ที่เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันความเสียหาย และจะนำพาให้อุตสาหกรรมนี้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน



0 replies on “ASF เปลี่ยนวิถีหมูไทยสู่มาตรฐานฟาร์ม”