ปชป.ในวันที่ไม่เหมือนเดิม-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ก็ยังไม่ชัดเจนจะเลือกตั้งเมื่อไหร่

แต่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เที่ยวนี้ น่าจะคึกคักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

เพราะนอกจาก ชื่อผู้สมัคร ที่โผล่มาสร้างสีสันแล้ว บรรยากาศการเมืองระดับประเทศ ที่อยู่ในขั้นไม่เผาผี จะทำให้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เหนื่อยชนิดรากเลือดกันเลยทีเดียว

ที่ไม่เป็นปริศนาแล้วคือประชาธิปัตย์

ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลาออกจากอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  (สจล.) เป็นที่เรียบร้อย

รอพิธีปลุกเสก ๑๓ ธันวาคม ให้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เคาะกระหม่อม เป็นอันเสร็จพิธี

ก็น่าเห็นใจประชาธิปัตย์ขาลง ต้องมาสู้ในสนามเลือกตั้ง กทม. ที่ไม่ได้เป็นของประชาธิปัตย์พรรคเดียวอีกต่อไปแล้ว

ฟัง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เผยความในใจ ก็เหมือนรู้ว่ามีจุดอ่อน และพยายามแก้ไข

 “ทำได้ไว ทำได้จริง” คือสโลแกนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

พร้อมทั้งยืนยัน ทำการบ้านมาจบแล้ว ไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้า

แต่…ก็ต้องเผื่อใจ ในวันที่คนกรุงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

หากเทียบฟอร์มสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประชาธิปัตย์กินพรรคอื่นขาดกระจุย

นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนถึง ๒๕๕๙ ก่อนมีผู้ว่าฯ กทม.แต่งตั้ง ประชาธิปัตย์ยึดครองเก้าอี้นี้มานานถึง ๑๒ ปี จาก  “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” และ “หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร”

ที่จริงต้องบวกสมัยการดำรงตำแหน่งของ พลตำรวจเอก  อัศวิน ขวัญเมือง เข้าไปด้วย เพราะนายบิ๊กตำรวจที่เติบโตในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ก้าวเข้าสู่การเมืองครั้งแรก ก็ในนามประชาธิปัตย์

หลังเกษียณอายุราชการ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ของคุณชายสุขุมพันธุ์

จับพลัดจับผลูได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จากการแต่งตั้งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ฉะนั้นหากนับ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง เข้าไปด้วย ก็เท่ากับประชาธิปัตย์ยึดครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ยาวนานถึง ๑๗ ปีเลยทีเดียว

แต่ช่วงหลังมานี้ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ไม่ใช่คนของประชาธิปัตย์อีกแล้ว

แล้วเป็นคนของใคร

ปริศนานี้มาพร้อมกับปริศนาอื่นๆ

จำ “พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา” ได้มั้ยครับ เดินหาเสียงเตรียมกระชากเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.นานอยู่หลายเดือน  ในนามพรรคพลังประชารัฐ

แต่จู่ๆ กลับถอนตัว ท่ามกลางข้อกังขาจากบรรดาแม่ยก

ทำไมถึงไม่ไปต่อ

ชื่อ “จักรทิพย์ ชัยจินดา” ถือเป็นบิ๊กเนมในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อยู่ในข่ายมีลุ้น ฉะนั้นการถอนตัวแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากมีตัวเลือกที่ดีกว่า

แล้วเป็นใคร?

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ใช่หรือไม่

ชื่อนี้เคยถูกหยิบยกขึ้นมา แต่ก็ก่อนที่ “พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา” จะตกเป็นข่าวสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพลังประชารัฐ

หรือ สมัครอิสระ แต่พลังประชารัฐให้การสนับสนุน

ฉะนั้น พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ไม่ใช่แน่นอน

ก็สอดคล้องกับท่าทีของ “จักรพันธ์ พรนิมิตร” หัวหน้าภาค กทม.ของพรรคพลังประชารัฐที่ยืนยันว่า ไม่ใช่ และตัว  พล.ต.อ.อัศวินเองก็ไม่ได้แสดงความจำนงมายังพรรคแต่อย่างใด

ครับ…ก็เหลือที่ตกเป็นข่าวร้อนฉ่า “ผู้ว่าฯ หมูป่า-ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร”

แต่มีประเด็นต้องกุมขมับเพิ่มเติม

เพราะเหลืออายุราชการอีก ๔ ปี

แถมยังมีโอกาสขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย

จิ้มเครื่องคิดเลข หาก “ผู้ว่าฯ หมูป่า” อดใจรับราชการอยู่ครบ ๖๐ ปี หลังเกษียณอายุราชการ สามารถลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้ทันที

เพราะวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คือ ๔ ปี เท่ากับอายุราชการของ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ที่ยังเหลืออยู่พอดี

แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะพลังประชารัฐเคลียร์ทางให้โล่งแล้ว

ในวันที่ยังไม่มีชื่อ ผู้ว่าฯ หมูป่า โพลแทบทุกสำนัก ยกให้  “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นำโด่ง

แต่หากวันไหน แน่ชัดแล้วว่า “ผู้ว่าฯ หมูป่า” อยากเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง วันนั้นสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะร้อนฉ่า

สถานการณ์เปลี่ยนทันที

ปี ๒๕๔๗ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้นพื้นที่เลือกตั้งใน กทม.เป็นของพรรคไทยรักไทย

เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ปี ๒๕๔๔ ประชาธิปัตย์แทบจะสูญพันธุ์ไปจาก กทม.

ได้มา ๘ คน จาก ๓๗ เขต

ที่เหลือเป็นของไทยรักไทยทั้งหมด

สถิตินี้สะท้อนว่า เจ้าของสนามใหญ่ อาจไม่ใช่ผู้ชนะในสนามเล็กเสมอไป

แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็สร้างตำนานมาหลายบท

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ปี ๒๕๕๒

ในขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส.ปี ๒๕๕๐ ประชาธิปัตย์กลับมาทวงความยิ่งใหญ่ใน กทม.อีกครั้ง กวาดไป ๒๗ ที่นั่ง เหลือให้พรรคพลังประชาชน ๙ ที่นั่ง

ประชาธิปัตย์ชนะทั้งสนามเล็กสนามใหญ่

แล้วเลือกตั้งที่จะมาถึง ประชาธิปัตย์ มีโอกาสแค่ไหน

เทียบชื่อชั้น “ดร.เอ้” กับ “ชัชชาติ” และ “ผู้ว่าฯ หมูป่า”  ถือเป็นรองพอสมควร

ปรากฏการณ์หล่อเล็กหล่อใหญ่ ไม่อาจนำมาใช้ในสนามเลือกตั้งเที่ยวนี้แน่นอน

เพราะความหล่อของ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” อยู่ในระดับแม่ยกยอมตายแทน

ส่วน “ชัชชาติ” ก็หล่อแบบทนถึก กว่าใครในปฐพี ไม่ต้องกินอะไรก็อยู่ได้ ๓ เดือน

“ดร.เอ้” ผู้มาใหม่ หล่อแบบพระเอกละครรีรันหลังข่าว

เอาเป็นว่าผุดผ่องทางการเมือง แต่จะถูกจริตคนกรุงหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

คนในประชาธิปัตย์บอกว่า การลาออกจากอธิการบดีของ  “ดร.เอ้” ถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ

เหมือนกับกรณีที่ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ลาออกจากบริษัท ที.เอ.ออเร้นจ์ จำกัด (ปัจจุบันคือ ทรูมูฟ) เพื่อนำประสบการณ์การบริหารงานที่หลากหลาย มาเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ให้คน กทม.พิจารณาในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ผลเลือกตั้งออกมาเหนือความคาดหมาย “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ชนะบิ๊กเนมที่พรรคไทยรักไทยให้การสนับสนุนอย่าง  “ปวีณา หงสกุล” ถล่มทลาย

“อภิรักษ์” กับ สโลแกน “กรุงเทพฯ ๓๖๐ องศา” ชนะราบคาบ ไม่เฉพาะ “ปวีณา หงสกุล” เท่านั้น แต่ยังมีคนเด่นดังอีกเพียบ อาทิ

“เฉลิม อยู่บำรุง”

“ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์”

“นิติภูมิ นวรัตน์”

“พิจิตต รัตตกุล”

“พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธุ์”

ครับ…นั่นคืออดีตของประชาธิปัตย์

แต่ประชาธิปัตย์ในวันนี้ “นายหัวชวน” ยังยอมรับว่า “ชื่อเสียงเกียรติภูมิพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นไปอย่างเดิม”

โชคดีครับ…ดร.เอ้



Written By
More from pp
กรมอนามัย เผย ครม. เห็นชอบกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตหนังสือรับรองการแจ้ง สำหรับสถานประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ที่รับผลกระทบจากโรคโควิด 19
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตหนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559
Read More
0 replies on “ปชป.ในวันที่ไม่เหมือนเดิม-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();