นักวิจัย ม.ราชภัฏเชียงใหม่ พัฒนางานวิจัยออกแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิตชุมชนหมู่บ้านอินทขิล เพื่อรักษาภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกลืม

ชุมชนหมู่บ้านอินทขิล เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานกว่า 700 ปี มีภูมิปัญญาเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับเตาเผาเซรามิกโบราณเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ความไม่เข้าใจด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ของชุมชนทำให้พิพิธภัณฑ์ถูกทิ้งร้าง ภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมถูกหลงลืม และใกล้สูญหาย จึงเป็นที่มาของการโครงการวิจัย “การออกแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่หมู่บ้านอินทขิล ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่” ของ อาจารย์กอบชัย รักพันธุ์ อาจารย์ประจำ หลักสูตรเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) เพื่อสร้างแนวทางการฟื้นฟูภูมิปัญญาของชุมชนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เพื่อสร้างแหล่งเผยแพร่ภูมิปัญญาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและเป็นแนวทางต้นแบบแก่ชุมชนอื่น ๆ

อาจารย์กอบชัยกล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย “การออกแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่หมู่บ้านอินทขิล ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่” ว่า เป็นการต่อยอดงานวิจัยของโครงการเมื่อปี 2562 ที่ได้ทำวิจัยในท้องที่เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา อำเภอแม่แตงที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นชุมชนชาวไทยเขิน ที่มีประวัติศาสตร์และความเก่าแก่ใกล้เคียงกัน และมีสถาปัตยกรรมอาคารแบบร่วมสมัยเหมือนกับที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แต่เหตุผลที่ได้เข้ามาเริ่มโครงการวิจัยยังหมู่บ้านอินทขิลคือ ได้เห็นศักยภาพของชุมชนแห่งนี้ที่สามารถต่อยอดงานวิจัยจากปี 2562 ได้ดี จึงร่วมมือกับหน่วยงานทั้งท้องถิ่น ภาครัฐ และประชาชน

การดำเนินโครงการวิจัยครั้งนี้ เริ่มจากการสอบถามประชาชนในพื้นที่ก่อนว่า อยากให้ทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนได้มากขึ้นอย่างไรบ้าง จุดเริ่มแรกจึงได้เริ่มการวิจัยในโรงเรียนอินทขิลก่อน เพราะมีเตาเผาโบราณจำลองอยู่ จึงได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนมาว่า ต้องการให้การเผา

เคลือบเครื่องปั้นดินเผา ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน และก่อนหน้านี้ในหมู่บ้านเองก็มีพิพิธภัณฑ์ขนาดกลางของกรมศิลปากรที่มาทำไว้ให้อยู่ก่อนหน้า แต่ถูกทิ้งให้ร้างไว้ ไม่มีผู้เข้าชม สุดท้ายได้กลายเป็นที่มาของการจัดทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้ขึ้นมา และเริ่มการวิจัย

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์จากสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา ในการจัดทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นรูปแบบของสามมิติ เมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เพื่อชมนิทรรศการแล้ว ผู้ชมก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อให้รับชมคลิปวีดิโอ วิธีการขึ้นรูปเครื่องปั้นดินเผาสมัยโบราณ หรือสามารถรับชมเครื่องปั้นดินเผาในรูปแบบโมเดลสามมิติผ่านสมาร์ทโฟน ที่มีการจำลองขึ้นมาใหม่ได้ เนื่องจากภูมิปัญญาในรูปเก่าได้สูญหายไปตามกาลเวลาแล้ว ถือเป็นการสร้างโต้ตอบระหว่างกันของพิพิธภัณฑ์กับผู้ชมเป็นอย่างดี และเปรียบเสมือนการฟื้นฟูให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวามากขึ้น ไม่จำเป็นต้องดูหรืออ่านตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่เมื่อลงไปในพื้นที่ชุมชนแล้ว ยังมีแนวคิดที่ว่าแม้จะมีพิพิธภัณฑ์มีชีวิตตามรูปแบบที่จำลองหรือสร้างขึ้นมาแล้ว ก็อาจจะทำให้การรับชมพิพิธภัณฑ์ยังคงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คืออาจจะยังมีความแห้งอยู่ จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการวิจัย ด้วยการร่วมมือพร้อมดึงศักยภาพจากชุมชนรอบข้าง เพื่อให้เป็นตัวสนับสนุนความมีชีวิตของพิพิธภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ให้เล่าเรื่องทุ่งนาเมืองแกน ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 700 ปี หรือเล่าเรื่องทุ่งพันแอกที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยโบราณ ร่วมกับการให้เห็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่ดำรงจนถึงปัจจุบัน เช่น การทำนา การจักสาน การปั้นพระ เรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียง และเชื่อมโยงศูนย์การเรียนรู้จุดต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง จนสุดท้ายได้เกิดการเชื่อมโยงความรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์แหล่งเตาเผาอินทขิลเมืองแกน โรงเรียนป่าจี้วังแดงวิทยา และชุมชนวังแดง ให้พิพิธภัณฑ์ได้เป็นพิพิธภัณฑ์เช่นเดิม แต่โรงเรียนและชุมชนวังแดง ได้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนไปด้วยกัน สามารถเพิ่มความมีชีวิตชีวา พร้อมกับจัดให้มีมัคคุเทศก์ชุมชนพร้อมพาเที่ยวชมพื้นที่โดยรอบและให้ข้อมูลอย่างรอบด้านได้

 อาจารย์กอบชัย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ดำเนินโครงการทั้งหมดถูกท้าทายด้วยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักไป ส่งผลให้ท้องถิ่นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และบทบาทของงานวิจัยก็ได้เปลี่ยนเป็นคู่มือนำทางสำหรับชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์มีชีวิตต่อไปในอนาคต แต่ผลจากการจัดทำโครงการวิจัยครั้งนี้ คือประชาชนกับท้องถิ่นได้เรียนรู้ว่าอัตลักษณ์ของชุมชนคืออะไร และควรรักษาอย่างไร จนกลายเป็นนโยบายของชุมชน เพื่อคงไว้ซึ่งทุ่งเมืองแกนที่ประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานที่ขณะนี้เริ่มถูกรุกล้ำด้วยการถมดินเพื่อสร้างหมู่บ้านบริเวณริมแม่น้ำปิง หากไม่มีนโยบายนี้ขึ้นมาก็จะไม่สามารถรักษาพื้นที่ทางธรรมชาติที่เหมือนเดิมได้อีกต่อไป

 “งานวิจัยนี้แม้จะเป็นคู่มือนำทาง เพื่อให้ชุมชนนำไปใช้ เมื่อเกิดการเปิดเมืองในอนาคต แต่ก็สามารถต่อยอดไปเรื่องงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกมากเช่นกัน พร้อมแนะว่า การท่องเที่ยวชุมชนจะเกิดขึ้นได้ ก็มาจากความสำนึกรักในชุมชนของตนเอง สิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนคือ คนในชุมชนที่ร่วมมือกัน หากมีคนมาท่องเที่ยวและได้รับคำชมแล้ว เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้การท่องเที่ยวภาคชุมชนขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงสามารถขอคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้จากชุมชนใกล้เคียงที่เคยทำการท่องเที่ยวมาก่อน พร้อมบูรณาการองค์ความรู้ ให้เกิดการท่องเที่ยวเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย” อาจารย์กอบชัย กล่าวทิ้งท้าย



Written By
More from pp
“อลงกรณ์” นำทีมชลประทานลงพื้นที่กรุงเทพตะวันออก
“ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ” นำทีมชลประทานลงพื้นที่กรุงเทพตะวันออก ช่วยกทม.ผันน้ำจากคลองแสนแสบและคลองประเวศน์บุรีรมย์ลงแม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทย
Read More
0 replies on “นักวิจัย ม.ราชภัฏเชียงใหม่ พัฒนางานวิจัยออกแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิตชุมชนหมู่บ้านอินทขิล เพื่อรักษาภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกลืม”