ความร่วมมือระหว่างไทยและภูฏาน โดยการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดโครงการชุมชน OTOP นวัตวิถีของไทยเข้ามาประยุกต์ใช้ในโครงการหนึ่งที่ TICA ได้ริเริ่ม โครงการส่งเสริมการเกษตร โดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OGOP ในราชอาณาจักรภูฏาน” เพื่อเพิ่มความสุขมวลรวมของคนในภูฏานให้มากยิ่งขึ้น

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ TICA ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน และสำนักงานโครงการสมเด็จพระราชินี (The Queen’s  Project Office – QPO)  แห่งราชอาณาจักรภูฏาน โดยรัฐบาลไทยได้นำผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาชุมชนและผลิตภัณฑ์ One Tambon One Product (OTOP) เป็นอย่างดี มาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์   การพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตร โดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OGOP  (One Gewog One Product) ในราชอาณาจักรภูฏาน ระยะที่ ๑ แผนงาน ๓ ปี (ระหว่างปี พ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๑) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเผยแพร่และนำมาปรับใช้กับชุมชนในภูฏาน รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นเฉพาะตัว และการส่งเสริมการตลาดภายในประเทศและการส่งออกผลิตภัณฑ์ OGOP ซึ่งผลลัพธ์ความสำเร็จของโครงการนี้ คือการทำให้เกษตรกรของภูฏานมีผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ

จากความสำเร็จของโครงการ OGOP ทำให้เกิดระยะที่ ๒ ขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนให้สอดคล้องกับโครงการชุมชน OTOP นวัตวิถีของไทย ในระยะที่ ๒ นี้ ได้มีหมู่บ้านที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน ๖ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้าน Uesu Gewong เมือง Haa หมู่บ้าน Gantey – Phobji เมือง Wandue Phodrang หมู่บ้าน Drakten Gewong เมือง Trongsa หมู่บ้าน Khoma Village เมือง Lhuntse หมู่บ้าน Yangtse Gewong เมือง Trashi Yangtse และหมู่บ้าน Patshaling Gewong เมือง Tsirang

นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวถึง การทำงานของ TICA ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาโดยคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานและความมีส่วนร่วมของภูฏาน เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของของโครงการต่าง ๆ ที่ TICA ได้ริเริ่ม รวมถึงการให้ความร่วมมือที่มีส่วนทำให้ภูฏานสามารถยืนได้ด้วยตนเอง โดย TICA มีส่วนช่วยในการพัฒนา ๒ ด้าน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์ ซึ่ง TICA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยกรมนุษย์หรือบุคลากรเป็นอย่างมาก       ในการให้มีความรู้ความเข้าใจผ่านการฝึกอบรม หรือการศึกษาต่อในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ประเทศไทย

การจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศไทยและภูฏานเพื่อต่อยอดโครงการ OGOP ระยะที่ ๒ ได้ร่วมกันวางแผนโครงการ OGOP แผนงาน ๑ – ๓ ปี TICA ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุมชนและผลิตภัณฑ์ OTOP จากประเทศไทย และผู้แทนจากทั้ง ๖ หมู่บ้านเข้าร่วมพูดคุย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การสัมมนาเชิงปฏิบัติครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงตั้งใจของภูฏานที่จะพัฒนาประเทศและบุคลากร โดยมีเจตจำนงค์ในการทำงานร่วมกับประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย กล่าวได้ว่า เมื่อภูฏานบอกว่าจะทำ ภูฏานจะทำจนสำเร็จ” โดย TICA คาดหวังถึงโครงการ OGOP ระยะที่ ๒ นี้ จะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และผู้จัดการโครงการ OGOP กล่าวถึง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูฏานเดิมมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าและการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยนำแนวคิดจาก OTOP เข้ามาประยุกต์ใช้กับโครงการ OGOP โดยคาดหวังถึงความสำเร็จในการขับเคลื่อนความกินดีอยู่ดีของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดระยะเวลา ๓ ปี ได้เปิดตลาดสินค้าในชุมชนสู่ตลาดทั่วประเทศ รวมถึงการส่งออกทั่วโลกผ่านของฝากติดมือนักท่องเที่ยวกลับไป  และในปัจจุบันได้มีร้านค้าผลิตภัณฑ์ OGOP จำนวน ๓ แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงทิมพู เมืองพาโร และสนามบินนานาชาติพาโร

ตลอดระยะเวลาในการจัดทำโครงการ OGOP ทำให้เห็นถึงความยากลำบากของชาวบ้านในการเดินทางไปขายสินค้าที่กรุงทิมพู ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ โดยโครงการ OGOP ระยะที่ ๒ นี้ ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมระดมสมองในการหาแนวทางที่จะให้ชาวบ้านได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการให้ คนในชุมชนขายสินค้าในท้องถิ่นที่เมืองของตนเอง ซึ่งจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและตัดขั้นตอนในการเดินทางไปขายในที่ต่าง ๆ โดย TICA ผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนชุมชน ร่วมหาแนวทางที่จะทำให้นักท่องเที่ยวสนใจที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองนั้น ๆ เพื่อซึมซับกับวัฒนธรรม และยังสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ OGOP กลับไปเป็นของที่ระลึกได้อีกด้วย

จากการศึกษาข้อมูลของเมืองต่าง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการระยะที่ ๒ พบว่า มีหลายเมืองที่เหมาะสมในการจัดทำโครงการ และในครั้งนี้ TICA และผู้เชี่ยวชาญเลือกที่จะไปสำรวจที่เมือง Haa ซึ่งเป็นเมืองที่ใกล้กับสนามบินนานาชาติพาโร โดยเมือง Haa เป็นเมืองที่มีการเพาะเลี้ยงปลาเทร้าต์และปลาสเตอร์เจี้ยน และยังมีโรงงานผลิตนมและชีส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เมืองนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยการจัดทำโครงการต่าง ๆ   ในภูฏาน ผู้เชี่ยวชาญคำนึงถึงหลักความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH)       ซึ่งคล้ายคลึงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ประเทศไทยได้เผยแพร่ในประเทศต่าง ๆ โดยนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร         มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ภูฏานเป็นประเทศที่มีความสุขยิ่งขึ้น

นายไพบูลย์ บูรณสันติ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การนำแนวคิดการจัดการโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และการส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวชุมชน มาประยุกต์ใช้ในภูฏาน โดยการยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากการศึกษาภูมิสังคม ผู้นำชุมชน ทรัพยากรในชุมชน   และองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในต้นทุนและวิถีชีวิตของชุมชนนั้น ๆ

แนวคิดของการจัดการชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีในภูฏานนี้ ได้ต่อยอดและให้ความสำคัญกับโครงการ OGOP ระยะที่ ๑ เป็นอย่างมาก โดยระยะที่ ๒ นี้ ทาง TICA และผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมพูดคุยถึงแนวทางในการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มจำนวนผลผลิตของผลิตภัณฑ์ OGOP รวมไปถึงสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในเมืองนั้น เช่น ที่พัก ร้านอาหาร บริการท่องเที่ยว กิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาออกแบบเป็นเส้นทางท่องเที่ยว โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน รวมถึงการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชนเมือง Haa และเมืองอื่น ๆ ที่สนใจ ต่อไป

ดร.ชำนาญ วัฒนศิริ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การจัดทำโครงการต่าง ๆ ในภูฏานโดยการใช้ ๒ แนวคิด คือ ๑ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี โดยการบูรณาการด้านการท่องเที่ยว ผนวกกับผลิตภัณฑ์ OGOP ในชุมชน ซึ่งสินค้าต่าง ๆ ในภูฏานเดิมอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงทิมพู และเมืองพาโร TICA และผู้เชี่ยวชาญจึงได้ชูสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ให้เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ๒การพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการจัดการชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ OGOP ระยะที่ ๒ นี้ จะเป็นชุมชนนำร่องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน

Written By
More from pp
เรือนจำธัญบุรี ขอราชทัณฑ์ย้าย ‘เพนกวิน’ ขังคุกพิเศษกรุงเทพฯ เหตุยังมีหมายขัง
18 ก.ย.64 – นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงการควบคุมดูแลตัวผู้ต้องขังที่เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองว่า
Read More
0 replies on “จาก OTOP สู่ OGOP”