กรมการแพทย์ โดย สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัยนักดื่ม หยุดดื่มกะทันหัน ร่างกายปรับสภาพไม่ทันเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แนะคนใกล้ชิดสังเกต หากพบอาการเสี่ยง รีบพาไปปรึกษาแพทย์
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า สุรา คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผลต่อสมอง ทำให้สมองเสื่อม ความคิดความจำบกพร่อง ผลต่อตับ ในระยะแรกจะเกิดไขมันสะสมในตับ ต่อมาจะเกิดภาวะตับอักเสบ และภาวะตับแข็งตามมา ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
โดยพิษแบบเฉียบพลัน ทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้ง่าย และพิษแบบเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจะหมกมุ่นกับการหาสุราดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ การทำหน้าที่ในชีวิตบกพร่อง ทั้งนี้ในรายที่ดื่มจนติดจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตได้ เช่น ซึมเศร้า อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง ระบบความจำบกพร่อง สับสนไม่รู้วัน เวลา สถานที่ สมองเสื่อม มีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในผู้ที่มีอาการพิษสุราเรื้อรังและดื่มแบบเสี่ยงรุนแรง ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ดื่มมากกว่าตั้งแต่ 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไปและดื่มวันละมากกว่า 5 ดื่มมาตรฐาน ซึ่งเทียบได้กับเบียร์ 4 กระป๋องหรือ 2 ขวดใหญ่, เหล้าแดงครึ่งแบน เมื่อหยุดดื่มอย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน มักจะพบอาการมือสั่น เหงื่อออก เป็นไข้ สับสน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน หวาดระแวงคิดว่าจะมีใครมาทำร้าย อาจทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่น ชักเกร็ง และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แนะผู้ดื่มและครอบครัวสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่หยุดดื่มกะทันหัน
หากพบมีอาการเสี่ยงให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาหรือเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งการบำบัดรักษามี 2 รูปแบบ คือ การบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยนอก เหมาะสำหรับผู้ติดแบบไม่รุนแรงมาก สามารถดูแลการทานยาเพื่อลดอาการถอนและควบคุมการหยุดดื่มได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกาย และการบำบัดแบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนทางกาย โดยแพทย์จะบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุราและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อฟื้นฟูกระบวนการคิด สมรรถภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป
หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th