จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขออำนาจศาลอาญาอนุมัติการจับกุม “นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์” หรือ “แอม” ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) และจากการสืบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีผู้เสียชีวิตในลักษณะเดียวกันจำนวนหลายราย ซึ่งมีนางแอม เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน ก็ปรากฏข่าวว่านางแอมได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตด้วย และมีคำถามตามมาว่าการฆาตกรรมดังกล่าวเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าสินไหมประกันภัยด้วยหรือไม่ นั้น
เพื่อให้ได้ความกระจ่างในเรื่องนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้สั่งการให้สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สำนักงาน คปภ. ทำการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตของนางแอม พบว่า นางแอมเคยได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตจำนวน 4 ใบอนุญาต สังกัด 3 บริษัท ดังนี้
ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของ บริษัท เอไอเอ จำกัด วันออกใบอนุญาต 3 กุมภาพันธ์ 2555 วันใบอนุญาตหมดอายุ 2 กุมภาพันธ์ 2556 ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของ บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) วันออกใบอนุญาต 13 มีนาคม 2558 วันใบอนุญาตหมดอายุ 12 มีนาคม 2559 ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) วันออกใบอนุญาต 19 กันยายน 2562 วันใบอนุญาตหมดอายุ 18 กันยายน 2563 และวันออกใบอนุญาต 15 กุมภาพันธ์ 2564 วันใบอนุญาตหมดอายุ 14 กุมภาพันธ์ 2565 โดยปัจจุบันใบอนุญาตทั้งหมดได้หมดอายุแล้ว
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติมในเบื้องต้นว่า นางแอมได้ขายกรมธรรม์ประกันชีวิต จำนวน 11 กรมธรรม์ ประกอบด้วย บริษัท เอไอเอ จำกัด จำนวน 8 กรมธรรม์ โดยเสนอขายเมื่อปี 2555 ซึ่งกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว ณ ปัจจุบันได้สิ้นผลบังคับไปแล้ว โดยในระหว่างความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยไม่มีการเคลมกรณีเสียชีวิต บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 กรมธรรม์ เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตของบุตรของนางแอมและไม่มีการเคลมกรณีเสียชีวิต และบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 กรมธรรม์ ซึ่งไม่มีการเคลมกรณีเสียชีวิต
เลขาธิการ คปภ. ฝากย้ำเตือนประชาชนว่ากรณีผู้ใดก็ตามกระทำให้บุคคลเสียชีวิตเพื่อหวังเงินประกันภัย นอกจากจะถูกดำเนินคดีและมีความผิดทางอาญาฐานฆ่าผู้อื่นแล้ว หากมีการพิสูจน์ทราบว่าผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยมีส่วนกระทำความผิดร่วมด้วย บริษัทประกันภัยอาจจะอ้างเหตุไม่จ่ายเงินตามสัญญาประกันภัยได้ และถ้าเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยจะมีความผิดทางอาญาด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะติดตามและตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบประกันภัย สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้ในทุกสถานการณ์ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัย หรือต้องการข้อมูลด้านประกันภัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect