ภาวะความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

www.plewseengern.com

แม้ว่าผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงจำนวนมากจะไม่มีอาการใดๆ บ่งบอกว่าเป็นผู้มีภาวะความดันสูง แต่การดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับการพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและรับยาอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยควบคุมอาการภาวะความดันสูงไม่ให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้

พญ.วริษฐา เล่าสกุล แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช ได้ให้ความกระจ่างถึงสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตน รวมถึงแนวทางการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันสูงได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและหลีกเลี่ยงอาการรุนแรงที่อาจจะเกิดตามมาได้

ภาวะความดันโลหิตสูงคืออะไร?

ความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาทางสุขภาพที่เป็นหนึ่งในปัญหาหลักของประชากรโลกและประเทศไทย โดย “ความดันสูง” หมายถึงภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดแดงที่สูงขึ้น โดยในปัจจุบันคือตัวเลขความดันตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่างมากกว่า หรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท วัดซ้ำสองครั้งแล้วได้ระดับความสูงเกินตัวเลขข้างต้น จะได้รับการวินิจฉัยว่าภาวะความดันโลหิตสูง

อาการของความดันโลหิตสูงมีอะไรบ้าง

– ไม่มีอาการ

– มึนหัว เวียนศีรษะ และที่สำคัญคือที่สุด คือ อาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อร่างกายมีภาวะความดันโลหิตสูงมาเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่อันตรายต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น

  • หัวใจล้มเหลว มีอาการหายใจเหนื่อย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ นอนราบไม่ได้
  • หัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บหน้าอก และอาจเป็นมากขึ้นเวลาออกแรง
  • ภาวะไตวาย มีอาการตัวบวม ปัสสาวะออกน้อยลง
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ มีแขนขาชาหรืออ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  • ภาวะเลือดออกในสมอง
  • ตามองไม่ชัด จากเส้นเลือดในตาเสื่อมเนื่องจากมีความดันโลหิตสูงมาเป็นเวลานาน

สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง

1. ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะความดันโลหิตสูง

2. ชนิดที่ทราบสาเหตุแน่ชัด เช่น โรคไตเสื่อม, ยาบางชนิด (ยาแก้ปวด ยาลูก กลอน), เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต, โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางชนิด, โรคการนอนหลับผิดปกติ

ต้องทำอย่างไรเมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูง?

ควรได้รับการตรวจและติดตามระดับความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความดันโลหิตลดลงจากการปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว แต่บางรายอาจต้องได้รับยาลดความดันร่วมด้วย ซึ่งแนวทางการรักษาต่างๆ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เฉพาะทางเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว เนื่องจากในผู้ป่วยบางรายอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองมีความดันสูง เพราะส่วนใหญ่ภาวะความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการ

แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง

– ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ได้แก่

1. ลดน้ำหนัก

2. ลดหรือเลิกการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด โดยแนะนำให้ไม่เกิน 2 ดริงก์ต่อวันในผู้ชาย และ 1 ดริงก์ต่อวันในผู้หญิง (1 ดริงก์ ประมาณ เบียร์ 1 กระป๋อง, เหล้า 45 ซีซี, ไวน์ 150 ซีซี)

3. รับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารชนิด DASH diet และลดการทานอาหารเค็ม

4. ควบคุมโรคเบาหวานอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

5. ดูแลและรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง

6. ออกกำลังกายเป็นประจำ แนะนำการออกกำลังกายชนิด cardio 150 นาทีต่อสัปดาห์

– การรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตสูง หากไม่สามารถคุมความดันโลหิตได้ด้วยการปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว ควรต้องมีการใช้ยารักษาความดันด้วย ซึ่งการใช้ยาลดความดันมีอยู่หลายแบบและหลายขนาด ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาและดูแลสุขภาพ

โรงพยาบาลนวเวช มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่ดีมีคุณภาพ และเข้าถึงง่าย Accessible Quality Healthcare พร้อมดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย และทีมแพทย์เฉพาะทาง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์หัวใจและทรวงอก โทร. 02 483 9999 I www.navavej.com

Written By
More from pp
ข่าวปลอม อย่าเชื่อ!!!! ประกันสังคมประกาศจ้างงาน WFH วันละ 300 บาท
8 เมษายน 2566 ตามที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องประกันสังคมประกาศจ้างงาน WFH วันละ 300 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
Read More
0 replies on “ภาวะความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม”