รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมสัมนาเชิงปฏิบัติการ แผนปฏิบัติราชการกรมการแพทย์ ระยะ 5 ปี มุ่งพัฒนาด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์ สร้างโมเดลระบบการดูแลรักษาที่ครบวงจร ได้มาตรฐาน ทันสมัย และเชื่อมโยงทุกระดับอย่างไร้รอยต่อ ใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์
21 กันยายน 2565 ที่ จ.อุบลราชธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดการประชุมสัมนาเชิงปฏิบัติการ แผนปฏิบัติราชการกรมการแพทย์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และบรรยายพิเศษ “แนวคิด มุมมองทิศทางของระบบสาธารณสุขไทย ภายใต้บริบทกรมการแพทย์” โดยมี คณะผู้บริหารและบุคคลากรกรมการแพทย์ เข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คน
นายอนุทินกล่าวว่า กรมการแพทย์เป็นกรมด้านวิชาการที่มีการดำเนินงานสอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความเข้มแข็งระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ได้พัฒนาระบบการแพทย์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เกิดรูปแบบการให้บริการที่หลากหลาย
อาทิ Home Isolation Community Isolation Hospitel และ Virtual Hospital ทำให้สามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณสุขไทยยังต้องเผชิญกับ ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งโรคอุบัติใหม่ และแนวโน้มความต้องการบริการสุขภาพที่สูงขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นสังคมสูงวัย (Ageing Society) รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบส่งผลให้การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นด้วย การเตรียมความพร้อมทั้งด้านนโยบายการดำเนินงาน บุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยี จึงมีความสำคัญที่จะทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
โดยทิศทางการดำเนินงานของกรมการแพทย์ในอนาคต จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนา ทั้งด้านวิชาการและบริการทางการแพทย์ เป็นศูนย์รวมวิชาการทางการแพทย์ของประเทศ และศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ ผลิตข้อมูลทางวิชาการด้านการแพทย์โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพ มีการสร้างโมเดลระบบการดูแลรักษาที่ครบวงจร ได้มาตรฐาน ทันสมัย และเหมาะสมกับบริบทของสถานพยาบาลแต่ละระดับ
เชื่อมต่อกันจากโรงพยาบาลระดับตติยภูมิไประดับปฐมภูมิ จนถึงประชาชนอย่างไร้รอยต่อ สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม นำข้อมูลไปใช้ในเชิงนโยบาย (Policy Advocacy) เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายระดับต่างๆ การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้ง 3 กองทุน และโมเดลเศรษฐกิจ BCG Medical Innovation ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์แบบครบวงจร
ลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์มูลค่าสูง ร่วมบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนพัฒนาระบบการเชื่อมต่อข้อมูลด้านสุขภาพเพื่อคืนข้อมูลสุขภาพให้กับประชาชน (PHR) รวมทั้งนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชน สร้างภาพลักษณ์ที่ดี เกิดความเชื่อมั่น เป็นที่ยอมรับในระบบการแพทย์ของประเทศและนานาชาติต่อไป
ด้านนายแพทยสมศักดิ์กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้เป็นเวทีให้บุคลากรของหน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ได้เพิ่มพูนทักษะ สร้างความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดของแผนปฏิบัติราชการกรมการแพทย์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และทิศทางการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยหลักการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติราชการของกรมการแพทย์ฉบับนี้ มีกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค ทั้งนี้ กรมการแพทย์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์ จากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่จะเป็นแหล่งจัดหาและให้บริการทางวิชาการอย่างครบวงจร ไร้รอยต่อ
ใช้นวัตกรรมดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ตามหลักการ Hospital Based Medical Service to Personal Based Medical Service ซึ่งจะเป็นการวางพื้นฐานรับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่อระบบบริการด้านการแพทย์ของประเทศ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินงานด้านการแพทย์ (Open platform) ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
รวมทั้งยังเร่งส่งเสริม สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้กับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence : CoE) โดยยึดตามปณิธานในการดำเนินงานของกรมการแพทย์ที่ว่า “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต”