เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565-กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่6 “Sustainable MSMEs, Women and Business” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น3 อาคาร 50 ปี รัฐศาสตร์ฯ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. โดยมีผู้ร่วมบรรยายทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
อาทิ นายเชิดชาย ไช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นายอาคม สุวรรณกันธา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จ.เชียงใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการจากจังหวัดเชียงใหม่ น.ส.นฤมล ทักษอุดม บริษัทกาแฟแบรนด์ Hillkoff น.ส.เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง เจ้าของแบรนด์พอDคำ น.ส.ชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สปาแอนด์เวลเนสไทย และสปันงา เวลเนส กรุ๊ป ร่วมถ่ายทอดความรู้และเล่าประสบการณ์การทำธุรกิจด้วย
นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงานเสวนาว่า ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การจัดเสวนาระดมสมองเป็นวิธีที่จะทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และทางกระทรวงการต่างประเทศต้องการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆว่าเอเปคจะช่วยท่านได้อย่างไร
อีกทั้งนำข้อมูลไปกำหนดเป็นนโยบายผลักดันในกรอบของเอเปคต่อไป อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปคในขณะนี้ เราเดินมาครึ่งทางแล้ว เหลือเวลาอีก 3 เดือน ที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ที่กรุงเทพมหานคร โดยผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green (BCG)
ในช่วงเสวนา นายเชิดชาย กล่าวว่า เอเปค คือการรวมตัวผู้นำเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ที่ผ่านมาเอเปคให้ความสำคัญกับการทำพรมแดนให้น้อยลงและการทำธุรกิจแบบอย่างยั่งยืน ส่วนในยุคนี้เอเปคให้ความสำคัญกับเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ใครที่เป็นเจ้าภาพเอเปคจะต้องทำงานประจำของเอแปคที่มีอยู่ 37 ด้าน
อาทิ การเข้าถึงเงินทุน ด้านป่าไม้ ด้านพลังงาน นอกจากนี้ ไทยก็จะทำหน้าที่ตามหัวข้อหลักด้วย คือ Open Connect Balane หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า เอเปคมองไปที่เชียงใหม่เพราะมีจุดแข็งมาก ทั้งจีดีพี โครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยง และประเด็นที่พูดกันคือ จะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไรหลังจากได้รับแรงกระแทกจากโควิด เพราะรายได้ของจังหวัดส่วนใหญ่พึ่งพาภาคบริการ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิดจึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจ อย่างเช่นธุรกิจสปาทั้งหมดในเชียงใหม่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจีน ร้อยละ90 นั่นแปลว่าในช่วงโควิดต้องปิดกิจการ
ดังนั้น แนวทางการพัฒนาเชียงใหม่ ก็คือ การท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และปรับตัวได้ เพิ่มมูลค่าเกษตรแปรรูปด้วยแนวคิดBCG ยกระดับการค้าการลงทุนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม รักษาทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมจัดการปัญหาฝุ่นควันเชิงรุก สร้างสังคมคุณภาพและเมืองน่าอยู่ มองในภาษาเอเปคการฟื้นฟูท่องเที่ยวในระยะสั้น ไม่ใช่ทางออกที่ดีในระยะยาว ถ้ามองในภาษาของเอเปค การพัฒนาเชียงใหม่ต้องยั่งยืน คลอบคลุม สมดุล และที่สำคัญต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายเชิดชาย กล่าวด้วยว่า แนวทางการพัฒนาเชียงใหม่ กับการทำงานของเอเปค มีการตอบสนองกัน เช่น การท่องเที่ยว การส่งเสริมมุลค่าเกษตรแปรรูปด้วยแนวทางของBCG การยกระดับการค้าและการลงทุน การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ การทำเมืองให้น่าอยู่ ล้วนแล้วแต่อยู่ในกลไกการทำงานของเอเปคทั้งสิ้น เอเปค และแผนพัฒนาเชียงใหม่ มองทิศทางเศรษฐกิจที่คล้ายกัน
ทั้งการส่งเสริมSME ฟื้นตัว มีนวัตกรรม มีความรับผิดชอบ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง การมองโควิดเป็นโอกาส ให้ MSMEs เริ่มต้นอีกครั้งอย่างยั่งยืนกว่าเดิม การขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ผู้บริโภคร่วมส่งเสริมการความยั่งยืน และสุดท้ายเอเปคส่งเสริมการเติบโตของเชียงใหม่ SME มีกำไร มีนวัตกรรม ยั่งยืนพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง
ด้านนายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้ SMEs ไทยต้องเจอกับความท้าทาย 6 ด้าน ได้แก่ ปัญหาตันทุนสูง เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ปัญหาGlobal Supply Chain ของโลกที่อาจยืดเยื้อ การแข่งขันรุนแรงที่มาจากรอบด้าน เงินบาทอ่อนค่า และปัญหาเชิงโครงสร้างและกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ไทยต้องเผชิญทวีความรุนแรงขึ้น