ความผิดปกติภายในทางเดินอาหารและลำไส้ มักจะเริ่มแสดงอาการต่อเมื่อมีความรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นการส่องกล้องทางเดินอาหารและลำไส้ จะช่วยให้เราตรวจเจอโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรง ก็จะช่วยให้การรักษาทำได้ไม่ซับซ้อน
นาวาโทนายแพทย์บุญเลิศ อิมราพร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า อาการปวดจุกแน่นท้องหรือแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบนหรือลำคอ, อาการท้องอืดท้องเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย, อาการเรอหรือคลื่นไส้อาเจียนบ่อย ๆ, อาการกลืนติด กลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ, อาการเจ็บคอ คอแห้ง เสียงแหบหรือไอบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการแสดงที่มาจากความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนบน ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งมักก่อให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร, โรคกรดไหลย้อนในหลอดอาหาร โรคหลอดอาหารอักเสบ โรคเนื้องอกในหลอดอาหาร หรือแม้แต่โรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้
ขณะที่อาการท้องผูกเป็นประจำหรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย, ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน, เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระมีติ่งเนื้อยื่นทางทวารหนัก, ท้องอืด แน่นท้อง ปวดท้อง, คลำพบก้อนในท้อง น้ำหนักลด, ซีด มีอาการอ่อนเพลียอาจเป็นอาการแสดงความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนล่าง ได้แก่ ลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งมักก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร, ลำไส้อักเสบ, ภาวะเลือดออกในลำไส้ใหญ่, เนื้องอกลำไส้ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
การตรวจคัดกรองหาโรคด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร เป็นวิธีบ่งชี้ความผิดปกติที่ดีที่สุด และอาจหยุดยั้งโรคร้ายได้แต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าจะมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย โดยแนะนำในช่วงวัยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค คือ 40 ปี ขึ้นไป ควรตรวจเป็นประจำทุกปี ซึ่งการส่องกล้องทางเดินอาหารแบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่
1. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper GI Endoscopy) จะใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตั้งแต่หลอดอาหาร ไล่ลงไปกระเพาะอาหาร ถึงลำไส้เล็กส่วนต้น โดยแพทย์จะใช้กล้องเอ็นโดสโคป มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ยืดหยุ่นโค้งงอได้ มีเลนส์กล้องและแสงไฟที่ปลายท่อ สอดเข้าไปทางปากผ่านทางหลอดอาหารและลงไปยังกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้เห็นความผิดปกติได้ชัดเจน
การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- อดอาหารและน้ำล่วงหน้าก่อนเข้ารับการส่องกล้องประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง
- งดทานยาบางชนิดตามที่แพทย์แจ้งก่อนเข้ารับการตรวจ 7–10 วัน เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างแอสไพริน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในกระเพาะระหว่างส่องกล้อง
- ไม่ควรขับรถกลับบ้านเองหลังจากทำการส่องกล้อง ควรมีญาติมารับกลับ เพราะยาระงับความรู้สึกหรือยาชาเฉพาะจุดที่ได้รับระหว่างการตรวจส่องกล้อง อาจมีผลให้อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมึนงงหลังการตรวจอีกสักพัก
2. วิธีการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนปลาย เป็นการส่องกล้องเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติของผนังลำไส้ และสามารถตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติบางชนิดออกได้โดยไม่ต้องผ่าตัดทางช่องท้อง โดยแพทย์อาจให้ยาที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ง่วงและหลับไป จากนั้นจึงใช้กล้อง Colonoscope ซึ่งเป็นท่อขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซ็นติเมตร ความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ยืดหยุ่น โค้งงอได้ สอดกล้องทางทวารหนักอย่างช้า ๆ เข้าไปถึงส่วนของลำไส้ใหญ่ตอนต้น เพื่อให้เห็นภาพผนังภายในลำไส้ใหญ่และมองหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อหรือติ่งเนื้อที่ผิดปกติ
การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนปลาย
- ถ่ายท้องลำไส้สะอาดก่อนถึงวันส่องกล้องเพื่อให้แพทย์เห็นภาพลำไส้ได้ชัดเจนที่สุด โดยใช้วิธิดื่มของเหลวที่ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานและถ่ายง่าย หรืออาจใช้วิธีสวนล้างลำไส้
- งดกินยาบางประเภทตามที่แพทย์สั่ง ก่อนถึงวันเข้ารับการส่องกล้อง
- ก่อนวันนัดตรวจ 2 วัน ควรทานแต่อาหารเหลวที่ไม่มีกากใย เช่น ซุป อาหารอ่อน หรือโจ๊ก หรือน้ำผลไม้ชนิดใส
- หลังการตรวจส่องกล้อง ผู้ป่วยควรนอนพักนิ่ง ๆ 1 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน เพื่อสังเกตอาการ เพราะอาจมีอาการอึดอัดท้อง ท้องอืด เนื่องจากมีลม โดยอาการจะทุเลาลงหลังการตรวจ และไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง ควรมีญาติพากลับบ้าน
การส่องกล้องทางเดินอาหารเป็นวิธีการตรวจที่ได้ผลแม่นยำ มีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบสาเหตุได้แม้มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังสามารถนำชิ้นเนื้อมาตรวจเพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยที่ควรทำการตรวจคือ ผู้ป่วยที่มีอากาปวดท้องเรื้อรัง รักษาด้วยการทานยาแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาเจียนเรื้อรัง หรือในผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินอาหารตอนอายุมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงสูงขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกในทางเดินอาหารเช่น อาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ถ่ายเป็นเลือด ตรวจอุจจาระพบว่ามีเลือดปนเปื้อน หรือ ปวดท้องร่วมกับตรวจเจอว่าซีด และ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังหาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนปลาย เพื่อดูลำไส้ใหญ่ ถือเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของมะเร็งที่พบในประเทศไทย