สุดทางที่เปียงหลวง (๑) – นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

          ประมาณ ๒๐ ปีก่อน ช่วงปีพ.ศ.๒๕๔๕ ดิฉันเดินทางเข้าไปที่หมู่บ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กับน้องผึ้ง น้องสาวที่รัก นักเขียนสารคดีมือฉมัง คุณวันดี สันติวุฒิเมธี ที่เข้าไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ทางด้านมานุษยวิทยา เกี่ยวกับคนไทใหญ่ ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนประเทศไทย

          ครั้งนั้นดิฉันได้เขียนงานสารคดี เกี่ยวกับคนไทใหญ่ในเปียงหลวง ที่เคยทำงานในกองทัพรัฐฉาน ครั้งที่นายพลโมเฮง เจ้ากอนเจิง เป็นผู้นำกองทัพSURA (ค.ศ.๑๙๖๙-๑๙๘๕) งานเขียนชิ้นนี้ได้ตีพิมพ์เป็นชุดราว ๓-๔ ตอน ในนิตยสารฉบับหนึ่ง และนำมาตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือ “รับมือกับสารพัดตัวแสบ” ของดิฉันที่เผยแพร่ออกมาเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๖
          มาวันนี้ดิฉันพลิกดูบทความเกี่ยวกับคนไทใหญ่ ชิ้นแรกๆ ที่ดิฉันเคยเขียนไว้ นึกถึงผู้ใหญ่ไทใหญ่หลายคนที่ได้พบ จึงตั้งใจนำบางส่วนในงานสารคดี “สุดทางที่เปียงหลวง” มาเผยแพร่ในหน้าเพจนี้ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ด้วยความรำลึกถึงลุงหมอสายคำ กับผู้ใหญ่ไทใหญ่ที่รักเคารพยิ่งอีกหลายคนที่เคยพบ เคยติดต่อ พูดคุย เคยนั่งผิงไฟยามค่ำ ชงชา ดื่มชาป่าด้วยกันมา…นานเหลือเกิน แต่เราไม่ได้ห่างไกลกันเลย ๒-๓ วันก่อนดิฉันยังได้สนทนาหลายประเด็นกับครูเคอแสน พี่สาวที่รักยิ่ง และยังหวังเสมอว่าจะได้ไปพบครูอีกครั้งที่บ้านในตองจี
          สำหรับงานเขียนสุดทางที่เปียงหลวง ดิฉันขอตัดตอนบางส่วนมาฝากเพื่อนๆได้อ่านกันในวันนี้ ดังเรื่องเล่าจากวันวานที่ดิฉันได้บันทึกมา
          ส่วนภาพประกอบชุดนี้ เป็นภาพบันทึกไว้เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๕ ครั้งที่ดิฉันเดินทางเข้าไปที่ดอยไตแลง ที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพรัฐฉานรุ่นปัจจุบัน
๑.ใกล้ค่ำที่เปียงหลวง ๒๕๔๕
          ดิฉันเข้าไปในหมู่บ้านเปียงหลวง เขตอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ในช่วงอากาศหนาวเหน็บคลายความเยือกเย็นไปมาก แต่ถึงกระนั้นหมอกบางยามเช้า…ก็ยังลอยอ้อยอิ่งคลุมสันเขาให้กลืนหายไปในม่านหม่นสลัว กว่าจะเห็นท้องฟ้าเต็มสีฟ้าได้กระจ่างสดใส และได้ไปนั่งกินเต้าหู้ทอดทำเองฝีมือผู้หญิงไทใหญ่ที่ยังได้รสชาติถั่วเหลืองบดสดๆอยู่มาก…ก็เป็นเวลาสายจัดแล้ว
          ก่อนจะเข้าไปในเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง ดิฉันไม่รู้จักพื้นที่นี้มากนัก รู้แต่ว่าต้องขับรถลัดเลาะไปตามไหล่เขา เลี้ยวซ้ายไปจากอำเภอเชียงดาวประมาณเจ็ดสิบกว่ากิโลเมตร ทางเข้าเวียงแหงขึ้นชื่อว่าเป็นถนนที่เปลี่ยวมาก เป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดที่ไม่น่าเข้าไปยุ่ง และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็เป็นแหล่งพักและขนถ่ายยาบ้าที่ข้ามมาจากฝั่งพม่า
          ส่วนตะเข็บชายแดนบริเวณหมู่บ้านเปียงหลวงนั้น เมื่อสักช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๕ คือพื้นที่การปะทะสู้รบอย่างหนักระหว่างกองกำลังทหารพม่า กับกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ หรือกองกำลัง SSA (Shan State Army) ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก การรบติดพันดุเดือดพอดีกับอยู่ในระยะที่ทหารไทยกำลังฝึกแผนป้องกันประเทศ “สุรสีห์ ๑๔๓“ ซึ่งเชื่อกันว่ามีการปฏิบัติการพิเศษเพื่อชาติในการปราบปรามยาเสพติด แต่ทว่าเกิดมีไส้ศึกฝ่ายไทย จึงทำให้ทหารพม่าล่วงรู้แผน และซ้อนแผนด้วยการประกาศว่ามีทหารรบพิเศษของไทยข้ามไปตีฐานทหารในฝั่งพม่า จนทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ และทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศกร้าว “อย่าโอเวอร์ รีแอ็ค” จนนำไปสู่การเด้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์พ้นเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกในที่สุด
          ในวันที่ดิฉันตัดสินใจเข้าไปยังเปียงหลวง เป็นวันฟ้าครึ้มฝนฉ่ำ แต่พอบ่ายจัดฟ้าเปิด… แดดสว่างก็สาดฉายผ่านแนวป่าสนเป็นสีทองงดงาม ดิฉันเช่ารถซูซูกิคาริบเบียนจากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เป็นพาหนะสัญจรผ่านไปตามไหล่เขา สองข้างทางเต็มไปด้วยดงบัวตองออกดอกเหลืองพราวสดใส สวยซะจนพวกเรา…สาวๆ คนเขียนหนังสืออายุสามสิบกว่าๆ วัยซึ่งมีบทกวีฝรั่งให้นิยามไว้ว่า warm, mature, and mysterious…เราสามคนต้องจอดรถเลียบริมเขา ยืนซี้ดซ้าด…ชื่นชมดงดอกไม้ป่าเป็นระยะ วิ่งลุยลงไปเก็บดอกหญ้ากันมาเต็มรถ…ระรื่นชื่นบานเสียจนช่วยกันยืนป้องปากตะโกนเรียกลมอยู่วู้…วู้ พร้อมกับกระโดดเต้นระบำอยู่ริมทาง ถนนโล่งกว้างไกลสุดตาไม่มีรถสวนมาสักคัน เหลียวมองกันเองแล้วยังหัวเราะขำ ยามนี้แต่ละคนดูไม่มีท่า…และไม่มีเค้าเอาเลยว่าจะ mature กันที่ตรงไหน
          กว่าจะไปถึงเปียงหลวงก็เย็นย่ำ รอบบริเวณสงบเงียบเชียบ แสงอ่อนยามเย็นฉาบย้อมเมืองเล็กๆ กลางหุบเขาให้สวยสุดประมาณ ก่อนฟ้ามืดเราพยายามขับรถวนดูสภาพหมู่บ้านให้ละเอียดที่สุดเท่าที่พอจะทำได้ หมู่บ้านเปียงหลวงตั้งอยู่บนช่องเขาที่ทอดยาวเข้าไปในเขตรัฐฉานของประเทศพม่า มีชื่อเรียกขานมาแต่โบราณว่า “ช่องหลักแต่ง” คนไทใหญ่เคยใช้ช่องหลักแต่งเป็นเส้นทางเก่าแก่ในการติดต่อค้าขายสัญจรจากเมืองหาง เมืองจ้อด เมืองโต๋น เมืองปั่น เมืองนาย ในรัฐฉานผ่านเข้าสู่เวียงแหง เชียงดาว เชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาต่างๆ ตลอดเส้นทางช่องหลักแต่งเคยมีหมู่บ้านไทใหญ่กระจัดกระจายอยู่เป็นระยะ ด้วยเหตุนี้ช่องหลักแต่งจึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมาก และหมู่บ้านเปียงหลวงซึ่งอยู่สุดชายแดนฝั่งไทยที่ช่องหลักแต่ง จึงเคยเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญมายาวนาน ในยุคที่รุ่งเรืองมากๆ เคยมีสินค้าเข้าออกเป็นเงินหมุนเวียนนับร้อยล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะสินค้าสำคัญคือวัวควายและอัญมณีจากรัฐฉาน แต่บัดนี้เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองบีบคั้นแปรเปลี่ยน เปียงหลวงก็เหลือเพียงชุมชนชายแดงเล็กๆ ที่ค่อนข้างเงียบเหงา และเป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์การทหารที่มีฐานกำลังของทหารไทย คอยตรวจตราดูแลพื้นที่บริเวณนี้อย่างเข้มงวด
          เปียงหลวงจึงเป็นหมู่บ้านชายแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวซับซ้อนหลายมิติ แค่เพียงขับรถโฉบผ่านเข้าไปตามถนนสายเล็กทอดคดเคี้ยวไปทั่วหมู่บ้านยังชวนตื่นตายิ่งนัก บางมุมของพื้นที่เหมือนกับไม่ใช่อยู่ในเขตประเทศไทย ตั้งแต่วัดไทใหญ่กลางชุมชน ลึกไปตามไหล่เขายังมีบ้านดินปลูกติดพื้นกลางดงต้นชา มองเห็นราวตากผักกาดดองเป็นแถว คนที่เดินผ่านเราไปคือหญิงจีนใส่เสื้อแดงสะพายลูกไว้กับเอี๊ยมแดงลายมังกร…มีกระทั่งผู้หญิงจีนเฒ่าที่ยัง “รัดเท้า” ตามประเพณีจีนโบราณ
          คนทั้งหมดในเปียงหลวงอพยพมาจากรัฐฉานของพม่า กลุ่มที่ตั้งบ้านอยู่ลึกเข้าไปด้านในคือพวกอดีตทหารจีนคณะชาติ กองพล ๙๓ หรือพวกจีนฮ่อของกองทัพก๊กมินตั๋ง ที่ถอยร่นมาจากการสู้รบกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์จากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เข้ามาตั้งฐานกำลังอยู่ในรัฐฉานตั้งแต่ปีพ.ศ๒๔๙๒ และเริ่มอพยพเข้ามาที่ชายแดนไทยเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๕
          ส่วนคนอีกกลุ่มในเปียงหลวงคือพวกกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่จากรัฐฉาน ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๑ เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ได้ตั้งกลุ่ม “หนุ่มศึกหาญ” เป็นกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่กลุ่มแรกขึ้นที่บ้านสบจ๊อด เมืองปั่น เขตรัฐฉานใกล้ชายแดนบ้านเปียงหลวง เพื่อทำการสู้รบตั้งประเทศฉานแยกออกมาจากสหภาพพม่า หลังจากนั้นได้ย้ายมาตั้งกองบัญชาการที่ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ครั้นถึงปีพ.ศ.๒๕๐๒ เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะก็ได้ย้ายกองบัญชาการใหม่มาอยู่ที่บ้านป๋างตอง อำเภอฝาง และกระจายกองบัญชาการย่อยทั้งหมด ๔๐ จุด ไปตามชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีหมู่บ้านเปียงหลวงเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน เนื่องจากที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ตรงกลางระหว่างกองบัญชาการย่อยทั้งหมดพอดี
          ในเวลานั้นคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเปียงหลวง มีแต่เพียงพ่อค้าไทใหญ่ที่เดินทางค้าขายระหว่างประเทศไทยกับรัฐฉานเพียงสิบกว่าครอบครัวเท่านั้น การเข้ามาตั้งศูนย์กลางกสนติดต่อของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ จึงทำให้หมู่บ้านคึกคักมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มครอบครัวทหารไทใหญ่ และชาวบ้านทั่วไปที่หนีภัยสู้รบมาจากรัฐฉาน
          ในเดือนมกราคมปี พ.ศ.๒๕๑๒ พื้นที่เปียงหลวงก็ได้ถูกใช้เป็นกองบัญชาการของขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ที่มีชื่อเป็นทางการว่ากลุ่มสหปฏิวัติรัฐฉาน หรือเรียกกันว่ากลุ่มSURA (Shan United Revolutionary Army) มีนายพลโม เฮง ที่คนไทใหญ่เรียกว่า เจ้ากอนเจิงเป็นผู้นำขบวนการ และมีเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะเป็นรองประธาน
          ในช่วงเข้ามาตั้งกองบัญชาการที่หมู่บ้านเปียงหลวง เป้าหมายหนึ่งของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่คือนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นให้การสนับสนุนทั้งต่อกองกำลังไทใหญ่และกองกำลังจีนคณะชาติในพื้นที่เปียงหลวงในหลายทาง ขณะเดียวกันทางกองทัพไทใหญ่ก็ยังมีรายได้มูลค่ามหาศาลจากการเก็บภาษีการค้าขายวัวควาย อัญมณี จากรัฐฉานและสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคจากประเทศไทย ผ่านด่านช่องหลักแต่งอย่างคับคั่ง มีผู้คนผ่านไปมาในเปียงหลวงหนาแน่น นับเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในตะเข็บชายแดนสมัยนั้น ประกอบกับเส้นทางจากตัวเมืองเชียงใหม่เข้าสู่เปียงหลวงค่อนข้างทุรกันดาร ถนนที่ใช้มีแต่ทางลากไม้ผ่านป่าเขา การตรวจสอบดูแลจากเจ้าหน้าที่ไทยเป็นไปอย่างยากลำบาก หมู่บ้านเปียงหลวงจึงปิดตัวอยู่ริมชายแดน และเติบโตขยายชุมชนขึ้นอย่างค่อนข้างอิสระจากราชการไทย
          ในปีพ.ศ.๒๕๑๗ รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้พยายามติดต่อผู้นำกองทัพไทใหญ่ ขอให้ย้ายกองบัญชาการออกจากเขตประเทศไทยเพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบระหว่างไทยกับพม่า ทางกองกำลังกู้ชาติจึงย้ายกองบัญชาการใหญ่และหน่วยงานต่างๆไปอยู่ในหมู่บ้านปางใหม่สูง เขตเมืองปั๋นของรัฐฉาน โดยที่ทางการไทยยังอนุญาตให้ครอบครัวทหารไทใหญ่อาศัยอยู่ในเปียงหลวงได้ ขณะเดียวกันทางรัฐบาลไทยก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารชุด บก.๔๐ เข้ามาดูทหารจีนฮ่อก๊กมินตั๋ง ควบคุมไม่ให้ออกนอกพื้นที่ และป้องกันปราบปรามยาเสพติด ต่อมาภายหลังก็ได้เปลี่ยนชุดเจ้าหน้าที่ทหารเป็นหน่วยเฉพาะกิจ ฉก.๓๒๗ เข้ามาทำการควบคุมดูแลทั้งทหารจีนฮ่อก๊กมินตั๋ง ชาวไทใหญ่ และชาวเขากลุ่มอื่นๆในเขตเปียงหลวง อีกทั้งยังได้ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำบริเวณด่านหลักแต่ง ชายแดนบ้านเปียงหลวงเพื่อดูแลพื้นที่ร่วมกับทหารไทใหญ่ซึ่งประจำการอยู่ในเขตรัฐฉาน
          ในปีพ.ศ.๒๕๒๘ รัฐบาลไทยสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ส่งหน่วยทหารพรานเข้ามายึดอาวุธของนายทหารไทใหญ่และจีนฮ่อในเขตเปียงหลวงทั้งหมด และขอให้ยุติการถือครองอาวุธในเขตประเทศไทย หากต้องการติดอาวุธขอให้อยู่ในเขตรัฐฉานเท่านั้น แต่การค้าขายชายแดนระหว่างฝั่งไทยและทางไทใหญ่ ก็ยังสามารถดำเนินต่อไปอย่างสะดวกต่อเนื่องมาอีกหลายปี และมีมูลค่าทางการค้าจำนวนมหาศาล ดังข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันภาคเหนือในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้กล่าวถึงปริมาณและรายได้จากการซื้อขายวัวควายที่ชายแดนช่องหลักแต่งว่า แต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า ๘ หมื่นตัว คิดเป็นเงินมูลค่าสูงถึง ๖๐๐ ล้านบาท
          ในปี ๒๕๔๕ ที่ดิฉันเดินทางไปถึง หมู่บ้านเปียงหลวงในยามใกล้ค่ำ ดูออกจะเงียบเหงา…ต่างไปจาก “ตลาดการค้าชายแดน” อันคึกคักครั้งอดีตอยู่มาก ดิฉันเข้าพักในเกสต์เฮ้าส์แห่งเดียวของหมู่บ้าน ซึ่งไม่มีแขกมาพักเลย เจ้าของเกสต์เฮ้าส์เล่าว่า แต่เดิมจะมีพ่อค้าจีนฮ่อจากยูนนานเข้าพักที่นี่เวลาขนสินค้าลงมาขาย หากช่วงหลังปัญหาการสู้รบระหว่างกองกำลังไทใหญ่และทหารรัฐบาลพม่าหนักหน่วงรุนแรงขึ้น ประกอบกับมีการกวดขันตรวจสอบพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด ทำให้ไม่ค่อยมีคนแปลกหน้าเข้ามาในเปียงหลวงมากนัก กิจการเกสต์เฮ้าส์แห่งเดียวของหมู่บ้านนี้จึงซบเซาลงไปมาก
แล้วใครเล่า? คือคนที่ยังเข้าใช้บริการห้องพักจำนวนมากที่เปิดอยู่
          พี่สาวชาวไทใหญ่หัวเราะร่วน เมื่อดิฉันไปกระซิบถาม เธอบอกว่า เดี๋ยวนี้ราชการไทยเข้มงวดมากขึ้น คนไทใหญ่ในเปียงหลวงยังไม่มีบัตรประชาชนไทย ออกนอกพื้นที่ลำบาก ไปไหนไกลๆไม่ได้ เกสต์เฮ้าส์แห่งเดียวของหมู่บ้านจึงมักถูกใช้เป็นที่ “ฮันนีมูน” ของคู่หนุ่มสาวแรกแต่งงาน…
          พวกเรามองหน้ากันเอง ไม่รู้ว่าควรจะหัวเราะขำหรือสะอึก “อึ้ง” กับความจริงที่ได้รับรู้นี้ เราเปิดห้องเล็กๆแคบๆ ที่โปร่งโล่งสะอาดสบาย มีเครื่องทำน้ำอุ่นให้ทุกห้อง และอากาศก็เย็นจัด ทั้งกลางวันกลางคืนจึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศมาช่วยลดอุณหภูมิแต่อย่างใด
          กวาดตาดูรอบห้องแล้วก็ต้องถอนหายใจยาว พื้นที่อันพอจะใช้สอยได้อย่างปลอดภัยของคนไทใหญ่มันช่างเหลือน้อยลงทุกที ยังดีที่ในเมืองไทยพอแบ่งปันแผ่นดินให้ลี้ภัยได้บ้าง แต่สำหรับประชาชนไทใหญ่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า อีกเป็นล้านๆ ชีวิตนั้น ดิฉันสงสัยเหลือเกิน ว่าการเข่นฆ่า ปล้นชิง ข่มขืนที่เกิดขึ้นทุกวันอย่างมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด จะทำให้คนไทใหญ่หลับตาลงแต่ละคืน ด้วยความสะดุ้งผวามากเพียงไร
          เราตื่นเช้าพร้อมเสียงไก่ขัน แสงตะวันสีชมพูอ่อนรางแต้มแดดสีทองเป็นประกายระยิบอยู่ริมขอบฟ้า หมอกบางคลุมทั่วบริเวณให้หายไปในแสงเช้าหม่นสลัว วันนี้ดิฉันมีนัดกับลุงสายคำ ชาวไทใหญ่ที่เข้าป่าร่วมกู้ชาติกับกองกำลังSURAของนายพลโมเฮง เมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา
          ลุงสายคำอายุห้าสิบกว่าปีแล้ว ผมเริ่มหงอกขาวตรงจอนหู มีดวงตาสีน้ำตาลเข้มอ่อนโยน และรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ลุงนั่งสนทนากับดิฉันในยามสาย ลุกเดินเป็นระยะไปขายของให้กับลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาหาซื้อสินค้าในร้านของลุง
          แดดแรงจัดสาดแสงลอดบานประตูไม้เข้ามาทาบรอยสว่างอยู่บนพื้น ขณะที่ลุงสายคำเริ่มทบทวนความหลังให้ดิฉันฟัง
         “ผมเกิดที่ บ้านไร่สัก เมืองยองห้วย ในรัฐฉาน ประเทศพม่า เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๓ หลังพม่าได้เอกราชจากอังกฤษ ๒ ปี ยองห้วยสมัยนั้นเป็นเมืองสวยสงบ อากาศดี มีภูเขาและทุ่งข้าวสีเหลืองทอง ผู้คนยังมีความสุขกันมาก ครอบครัวผมทำการค้า ตอนผมจำความได้ “ทหารสหภาพ” ซึ่งมีทั้งคนไต(ไทใหญ่) กะฉิ่น พม่า เริ่มเข้ามาในหมู่บ้านแล้ว แต่ช่วงนั้นทหารสหภาพยังเรียบร้อย มีระเบียบวินัยสูง ไม่ทำร้ายคนไต เขามาอยู่กันเงียบๆนอกหมู่บ้าน เข้ามาฉีดยาป้องกันโรคฝีดาษให้กับชาวบ้าน แวะเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆ เขายังสัมพันธ์กับชาวไตอย่างดี
         ผมเข้าไปเรียนหนังสือที่เมืองตองจี ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ตองจีเป็นเมืองใหญ่ มีมิชชันนารีมาตั้งโรงเรียนคริสต์ ผมต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชาจนจบชั้นมัธยมปลาย
          ที่ตองจีเด็กๆชาวไตทุกโรงเรียนรวมตัวกันตั้ง “ชมรมประเพณีวัฒนธรรมไต” เราหาคนมาสอนให้เขียนอ่านอักษรไต ตอนนั้นพม่าปกครองระบอบสังคมนิยม แต่ยังไม่จำกัดสิทธิคนไตโดยเปิดเผย พวกเรายังจัดงานวันชาติไตในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ของทุกปี แต่แล้วพวกทหารพม่าก็เริ่มบีบคั้นเราหนักขึ้น ใครเรียนเขียนอ่านอักษรไตจะถูกจับเข้าคุก ชาวบ้านไตถูกเอาเปรียบ เด็กๆชาวไตถูกครูพม่าดูถูกเหยียดหยาม ผมเริ่มอึดอัดคับข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น มองเห็นความแตกต่างระหว่างชนชาติ ตอนนั้นเริ่มมีคนมาติดต่อผมให้เข้าร่วมในขบวนการกู้ชาติไทใหญ่แล้ว แต่ผมไม่แน่ใจ เพราะมีหลายกลุ่ม เราไม่รู้ว่ากลุ่มไหนมีนโยบายกู้ชาติจริงๆ ผมตัดสินใจอยู่หลายปี พอจบมัธยมปลายผมก็แต่งงาน ภรรยาเป็นคนเมืองหนอง มาเรียนหนังสือที่เดียวกัน ผมทำอาชีพเป็นช่างทาสี ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวไทใหญ่ที่เมืองตองจี ซึ่งรวบรวมเครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องประดับของพวกเจ้าฟ้า ตำรับตำราโบราณของไทใหญ่ ไม่กี่ปีก่อนรัฐบาลพม่าเผาพิพิธภัณฑ์นี้ทิ้ง เพื่อทำลายประวัติศาสตร์ว่าเคยมีไทใหญ่อยู่ในพม่า รัฐบาลพม่ายังรื้อทำลายหอคำเมืองเชียงตุง หอคำของเจ้าฟ้าเมืองล่าเชี่ยวกับอีกหลายๆเมือง ทำลายทุกอย่างของคนไตเพื่อลบเราออกจากแผนที่ประเทศและแผนที่โลก
          ไทใหญ่เคยมีแผ่นดิน มีภาษา มีตัวอักษร มีวัฒนธรรม มีอารยธรรม มีระบอบการปกครองของเราเอง เมื่อปีพ.ศ.๒๔๒๘ ที่พม่าเสียแก่อังกฤษ แต่ไทใหญ่ก็ยังได้ปกครองตัวเอง มีเจ้าฟ้าแต่ละเมืองเหมือนเดิม อังกฤษดูแลไทใหญ่ให้เป็นรัฐในอารักขา ต่างจากพม่าที่ถูกรวมให้เป็นแค่จังหวัดหนึ่งในอาณานิคมอินเดีย
          หลังจากผมแต่งงานแล้ว ราวปีพ.ศ.๒๕๑๕ ผมไปหาอาคนเล็กที่เข้าร่วมกับขบวนการกู้ชาติSURAของเจ้าก้อนเจ็ดและนายพลโมเฮง เขาอยู่กันที่หมู่บ้านสะเน็น ตอนนั้นเป็นช่วงกลางงานเข้าพรรษา ชาวไตจัดงานจาก๊ะ(บริจาค)ในหมู่บ้าน ผมเห็นศึกไต(ทหารกู้ชาติไทใหญ่)กับชาวบ้านไว้เนื้อเชื่อใจกันมาก เวลาศึกไตอยากออกไปตีกลองรำกาล้าย(รำมวย) หรือไปเต้นในวง ปืนที่ถือสามารถฝากชาวบ้านได้ จุดนี้ทำให้ผมมั่นใจ และตัดสินใจแน่วแน่จะมาร่วมกู้ชาติด้วย ผมเชื่อว่ากองทัพSURAทำเพื่อชาติเพื่อประชาชนจริงๆ ชาวบ้านถึงไว้เนื้อเชื่อใจเขาขนาดนั้น และเขาก็ไว้ใจชาวบ้านมาก
          ผมได้พบเจ้าก้อนเจ็ดซึ่งดูแลกองทัพSURAที่สะเน็น เจ้าถามความสมัครใจ อธิบายสถานการณ์ต่างๆตามความเป็นจริงให้มองเห็นว่า ไทใหญ่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะตั้งประเทศเอกราชได้ เรามีพื้นดิน มีประเพณีวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ได้เอาของคนอื่นมา เราขาดแต่อำนาจปกครองประเทศ ผมจึงตัดสินใจเข้าร่วมกู้ชาติ เจ้าก้อนเจ็ดถามว่าจะเป็นแนวร่วมในเมืองหาข่าวส่งให้ หรือจะเข้าเป็นทหารแนวหน้า ผมตอบว่า ไม่อาจอยู่ในเมืองได้ต่อไปแล้ว จิตใจไม่อาจทนต่อความรู้สึกตนเองได้ ผมขอเข้าป่า แต่ขอกลับเข้าเมืองไปหย่ากับภรรยาก่อน แล้วจะกลับมาเป็นนักรบ
          ผมกลับไปหาภรรยา บอกเธอว่าจะไปเป็นทหารขอหย่าขาดจากกัน ภรรยาผมเธอเพิ่งอายุ ๑๙ ปี แต่เธอก็ยืนยันกับผมว่า เราเป็นผัวเมียกันแล้ว ประเทศก็เป็นของเราสองคนเหมือนกัน หากต้องการกู้ชาติ เธอขอเป็นอีกแรงมาช่วย เราเลยเข้าป่าไปด้วยกัน
          เราเข้าป่าทางเมืองปั๋น มีเพื่อนที่อยู่ในชมรมประเพณีวัฒนธรรมไตช่วยจัดการหาเกวียนให้ เราเดินทางเข้าไปที่นาหว่อน ปลอมตัวเป็นพ่อค้าขนสินค้าไปขาย เราถูกทหารพม่าตามด่านเรียกตรวจหลายครั้ง แต่เราบอกจะไปขายของ พอมาถึงนาหว่อน พวกศึกไตจัดคนนำทางมาให้ เขาให้ม้ามาบรรทุกของ ๑ ตัว ผมอยากให้ภรรยานั่งหลังม้า แต่เธอขี่ม้าไม่เป็น เธอไม่กล้า ทางขึ้นเขาบุกป่าลำบากมาก เดินนานไม่ไหว เราเลยสลับกันนั่งหลังม้าอยู่หลายวันกว่าจะมาถึงกองบัญชาการSURAที่หมู่บ้านเปียงหลวง เขตประเทศไทย
          ก่อนมาถึงเปียงหลวง คนนำทางบอกว่าเปียงหลวงเจริญมาก มีน้ำถึงบ้าน ผมยังคิดว่าคงเป็นแบบน้ำประปาในเมือง พอถึงสันเขามองไปทางไหนเห็นแต่ต้นหญ้าต้นไม้ปิดคลุม มีหลังคาบ้านไม่กี่หลังซุกอยู่ตามดงไม้ และป้อมทหารตรงด่านชายแดน ผมไปพบนายพลโมเฮง นายพลเห็นผมมีความรู้ดีเลยจัดให้ผมไปอยู่หน่วยสื่อสารประมาณหนึ่งปี หลังจากนั้นนายพลท่านเห็นว่า กองทัพSURAไม่มีหมอและโรงพยาบาลของตัวเอง นายพลเลยส่งผมกับภรรยาไปเรียนวิชาทางการแพทย์ที่โฮงหมอจินดา ในตัวเมืองเชียงใหม่”
          “โฮงหมอจินดา” ที่ลุงสายคำกล่าวถึง คือโรงพยาบาลจินดา สิงหเนตร กลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งนายพลโมเฮงเคยเข้ารับการรักษาแขนซ้ายเป็นเวลาร่วมหนึ่งปี ครั้งนั้นทางโรงพยาบาลยอมให้นายพลโมเฮงค้างค่ารักษานานถึง ๖-๗ ปีโดยนายพลสัญญาว่าหากมีเงินเมื่อใดจะนำมาชำระให้ เมื่อนายพลทำตามสัญญาที่ให้ไว้โดยไม่บิดพลิ้ว คุณหมอบุญเริ่มลูกชายของหมอจินดาจึงเกิดความนับถือในสัจจะและน้ำใจมั่นคงของท่านนายพล และยินดีที่จะรับฝึกสอนวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้กับเด็กหนุ่มสายคำและภรรยา โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
          ลุงสายคำได้เรียนเน้นหนักไปในทางการรักษาโรคทั่วไปและการผ่าตัดที่จำเป็นในสนามรบใช้เวลาประมาณ ๕ ปี ส่วนภรรยาของลุงเรียนทางด้านทำแล็บตรวจหาเชื้อมาเลเรีย ต้องเรียนยาวนานอยู่ถึง ๗ ปีเต็ม
          ลุงสายคำทบทวนวิชาแพทย์ภาคสนามที่ได้เรียนรู้จากคุณหมอหลายคนในโฮงหมอจินดาให้ฟังว่า
          “ตอนแรกที่เข้าไปเรียนหมอ ผมยังไม่รู้ภาษาไทย พูด อ่านไม่ได้ จึงฝึกภาษาและการปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐานจากพวกพยาบาล เมื่อเขียนอ่านภาษาไทยได้คล่อง ผมก็ได้เรียนแพทย์โดยตรง ผมเรียนการผ่าตัด ไปช่วยคุณหมอบุญเริ่มหัดเย็บแผล โฮงหมอจินดามีหมอหลายคน ใครขึ้นเวรผมก็ไปเป็นผู้ช่วยคนนั้น เรียนกันจากห้องผ่าตัดโดยตรง ฝึกการใช้เครื่องมือแพทย์ เรียนรู้ทฤษฎีต่างๆเกี่ยวกับยาจากเภสัชกร ศึกษาวิธีใช้ยาให้สัมพันธ์กับอาการของโรค คุณสมบัติ ผลข้างเคียงต่างๆ พอครบห้าปีผมก็สั่งยา ผ่าตัดอวัยวะ ตัดแข้งตัดขา อย่างที่จำเป็นต้องใช้ในกองทัพได้คล่องแล้ว
          ภรรยาผมเธอเรียนทำแล็บตรวจหาเชื้อมาเลเรีย พอเราทั้งคู่เรียนจบ คุณหมอบุญเริ่มชวนให้เราทำงานต่อที่โฮงหมอจินดา และเสนอผมว่าถ้าในอนาคตผมต้องการใบประกอบโรคศิลป์เพื่อเปิดคลีนิครักษาคนไข้เหมือนแพทย์ทั่วไปก็สามารถทำได้
          ผมปฏิเสธ ผมบอกกับหมอบุญเริ่มว่า ขอบพระคุณที่ให้โอกาสผม แต่ผมได้ให้สัญญากับกองทัพกู้ชาติไว้แล้วว่า ถ้าผมมีวิชาความรู้เมื่อไหร่ ผมจะกลับมาช่วยกองทัพ สัญญาของผมต้องเป็นสัญญา”

 


Written By
More from pp
ไทยเบฟ รับมอบตราสัญลักษณ์ประธานอาเซียนของไทย
คุณบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ มอบตราสัญลักษณ์ประธานอาเซียนของไทย ให้กับ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท​ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)​ เพื่อเป็นการขอบคุณในความร่วมมือ และร่วมประชาสัมพันธ์ งานประธานอาเซียน ปี 2562 ของไทย...
Read More
0 replies on “สุดทางที่เปียงหลวง (๑) – นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว”