เปลว สีเงิน
ทุกวันนี้….
การ “ชังชาติ-ชังสถาบัน” กลายเป็นค่านิยม “คนรุ่นใหม่” มีนักศึกษาเครือข่ายสามนิ้ว “ธนาธร-ปิยบุตร” เป็นแบรนด์นำ
เหตุที่เป็นเช่นนั้น
ส่วนหนึ่ง มาจากสังคมสื่อ และ “กระแสปั่น”!
“เลวสุดขั้ว-ชั่วทะลุนรก” ดังเปรี้ยง ได้ออกจอ ขึ้นหน้า ๑ ขึ้นหน้าเฟซ ชนิด “ผูกปี” เลวแล้วเด่น-ดัง คนจึงอยากเลวตาม
ขณะเดียวกัน “คนดี-ศรีอนาคตชาติ” เงียบฉี่ ร้อยวัน-พันปี ไม่มีใครพูดถึง
ดี “ขายไม่ได้” เลว-ชั่วร้าย “ขายดิบ-ขายดี”!
ร้ายกว่านั้น….
ด้วยความถี่ของข่าวสารในพฤติกรรมเลว นักศึกษาสามนิ้ว กลายเป็นภาพรวมของคำว่า “คนรุ่นใหม่” ไปชนิดผิดเพี้ยน
ในความจริงที่เป็นปัจจุบัน…..
มันไม่ใช่อย่างนั้น!
“นักเรียน-นักศึกษา” รุ่นใหม่ ที่ไม่แหกคอก-ผ่าเหล่า มีเป็นแสนๆ ล้านๆ แต่เพราะดีมีจำนวนมากนั่นแหละ จึงเข้าตำรา อะไรที่มีมาก ตลาดจะไม่ตื่นราคา
สู้พวกเลวถึงกระดูกไม่ได้….
มีจำนวนร้อย-จำนวนพัน (แถมพวกจานไปด้วย) เพราะประหลาด “ผ่าเหล่า-ผ่ากอ” ชนิดเสียชาติเกิดนั่นแหละ
ยิ่งคิดล้มเจ้า-ล้มประเทศด้วยแล้ว มันเป็นพฤติกรรมเกินริยำชาติ เพราะไม่ชั่วจริง จะคิด-จะทำ อย่างนั้นไม่ได้
เมื่อมันคิด-มันทำ…..
จึงสะดุดตา-สะดุดตีน ไม่ต่างข่าวสุนัขทั่วไป “ซื่อสัตย์-ภักดี” เจ้าของ จะไม่เป็นข่าว
แต่พอมีสุนัขบางตัว-บางพันธุ์….
ทั้งเกิดในบ้าน ทั้งขุนเลี้ยง กลับงับมือเจ้าของ จึงเป็นข่าวในลักษณะ “สัตว์เนรคุณ”
“เลี้ยงไม่เชื่อง” กัด-ฟัดกระทั่งเจ้าของ ที่ให้ข้าว-ให้น้ำ-ให้ใต้ถุนอาศัย ให้กระทั่งที่ศึกษาเล่าเรียน!
เพราะอย่างนี้…
วันนี้ เรามาสนับสนุนแนวทางกระทรวงวัฒนธรรมกันหน่อยเป็นไร คือ ช่วยกันเชิดชู-ยกย่องคนดีให้มีกำลังใจ
โดยเฉพาะ “นักศึกษา” เมล็ดพันธุ์ชาติในภาพ “คนรุ่นใหม่” ต้องช่วยกันส่งเสริม
อย่านำที่ชั่วมาผลิตซ้ำนำตลาด ปล่อยให้มันจมดินหายใต้ตีนไป หรือก็ให้ไปงมหาความเท่าเทียมอยู่ในเรือนจำโน่น
ช่วยกันเปิดประตูใจ ให้รุ่นใหม่ “น้ำดี” ที่มีอยู่จำนวนมาก เข้ามาไล่รุ่นใหม่ “น้ำครำ” จำนวนน้อยออกไป
บ้านเมืองจะได้สะอาดใส…
อย่างคลองหลอด คลองโอ่งอ่าง คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ ทุกวันนี้ยังไงล่ะ
วัน-สองวันนี้ คงได้ดูคลิป “รับน้องใหม่” ของนักศึกษาสถาบันหนึ่งทางอีสานกันแล้วกระมัง?
เพจ Keaw Ratch FC อัญชะลี-สันติสุข-กนก-ธีระ-วรเทพ-สถาพร-อุบลรัตน์ เขานำที่ “สยาม สยาม ยิ้ม” โพสต์เฟซ มาแชร์ และคอมเมนท์ว่า
“ขอชื่นชม ด้วยใจจริง ไม่เคยได้พบเห็นวิธีการรับน้องที่ยิ่งใหญ่ และ ลึกซึ้งกินใจ จริงๆๆๆ
ขอบคุณ มหาวิทยาลัย แห่งนี้ อีกทั้ง รุ่นพี่เสื้อสีชมพูทั้งหมด ขอให้ จำเริญๆๆๆ ผู้ปกครอง อบรมได้ดีเยี่ยม ชื่นชมๆๆๆกี่แสนครั้ง ก็ไม่พอ “ฟ้องด้วยภาพและเสียง”
……………………….
สยาม สยาม ยิ้ม
“ม.ราชภัฏอุดรธานี” จัดรับน้องด้วยบทเพลงกล่อมน้องทำนองลาวดวงเดือน
สุดซาบซึ้ง อบอุ่น ปลื้มปิติ ทำเอาน้องๆ หลายคนทั้งหญิงและชายถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่
นี่คือการรับขวัญแบบสร้างสรรค์และมีวัฒนธรรม ที่ทำให้น้องใหม่จดจำและมีความรู้สึกที่ดีตราตรึงไปตลอดจากรุ่นสู่รุ่น
————————-
นี่คือประเด็นที่ผมต้องการคุยวันนี้!
ความจริง หลายท่าน นำคลิปรับน้องใหม่นักศึกษา “ม.ราชภัฏอุดรธานี” มาโพสต์ ผมก็เปิดดูซ้ำแล้ว-ซ้ำอีก จากทุกโพสต์
ดูแล้ว เกิดความรู้สึกอย่างเดียวกับ Keaw Ratch และ “สยาม สยาม ยิ้ม”
ขอชื่นชมคณะบริหาร ม.ราชภัฏอุดรธานี ตั้งแต่อธิการบดี ครูอาจารย์ และนักศึกษาเก่า-ใหม่ทุกท่าน
ผมขอคุยในความหมาย ทุกท่านได้ดูคลิป “รับร้องใหม่” ของนักศึกษา ม.ราชภัฏอุดรธานี กันแล้วนะครับ
จิตเดิมแท้ของมนุษย์ “ปภัสสร”
คือ ละเมียด อ่อนโยน บริสุทธิ์ สะอาด ที่แปรเปลี่ยนเป็นนั่น-นี่ เพราะสังคมแวดล้อม ย้อมนำ
นำทางดี ดีนั้น จะย้อมจิตไปทางดี นำไปทางชั่วร้าย ชั่วร้ายนั้น จะย้อมจิตไปทางชั่วร้าย
รูปแบบการรับน้องใหม่ที่ละเมียด อ่อนโอน อันไม่เคยปรากฏมาในก่อนสถาบันศึกษาไหน
นั่นคือ รุ่นน้องนั่งล้อมวงกับพื้น แล้วรุ่นพี่นั่งล้อมรอบ ขับกล่อมบทเพลงหมู่ “รับร้องใหม่”
ใจพี่โอบเอื้อเป็นน้ำใส รินไหลสู่ใจน้อง ที่เหมือนนกน้อยพลัดรัง
ทั้งพี่-ทั้งน้อง นองน้ำตา….
พี่จะปกปักรักษาน้อง และน้องก็ตื้นตัน จะเป็นน้องสืบสานรักษา ดีงามนี้ เป็น “มรดกสัญญา” ของม.ราชภัฏอุดรธานี สืบๆต่อกันไป
เก่งนะ “รุ่นใหม่” ม.ราชภัฏอุดรธานี
ที่นำทำนอง “ลาวดวงเดือน” มาใช้ในบทเพลงรับขวัญน้อง แต่งเนื้อได้อ่อนโยน ลึกซึ้ง สะอาดเย็น ได้ขนาดนี้ ก็ดูซี…
โอ..โอ้ ละเน้อ น้องเอย ลา..หล่า..ล้า..ละ..ลา
หมู่เรา น้องเอย พี่นี้ ขอชื่นเชย เจ้ามิเลยแรมไกล
รักเจ้า จากดวงใจ มิคลายหน่ายจาง ล้า..ละล้า..ละลา
พี่จะรับขวัญเจ้า เอามาเป็นขวัญจิต จะรักดังชีวิต ใจคิดกรุณา ลา..หล่า..หล้า..ลา ลา..
ขอจงหายโศก พ้นภัยหายโรค ให้มีโชคนะน้องยา
พี่จะเอาด้ายยาวขาวบริสุทธิ์ ล้า..ลา ละล้า..ละ..ลา
จะมารัดผูกไว้ ที่ข้อมือของเจ้า หลา..ลา..ล้า..ละลา
เหมือนจำจากใจพี่ ผูกพันเจ้าไว้ ไม่หน่ายหนี ไว้ผูกพัน โอ..โอ้ โอละเน้อ…น้องเอย ล้า..ลา ละหล่า..ลา
เพลง “ลาวดวงเดือน” นี้ กินใจมาก
บ้างนำทั้งเนื้อ-ทั้งทำนองมาขับร้อง บ้างนำทำนองมาแต่งเนื้อใหม่ร้องในเพลงต่างๆ บ้าง ก็ซึมซับประทับใจคนฟังทั้งนั้น
ยิ่งรู้ที่มาของบทเพลงลาวดวงเดือนด้วยแล้ว ทำให้รู้ว่า “หัวใจร้องไห้” นั้น มันเป็นเช่นไร
หาประวัติอ่านได้หลากหลายสำนวน ผมขออนุญาตนำจาก http://bangkrod.blogspot.com/
ที่ “ร้อยตะวัน” เรียบเรียงที่มาเพลง “ลาวดวงเดือน” ไว้ มาให้อ่านบางส่วน ดังนี้
“พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์” พระโอรส “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และเจ้าจอมมารดามรกฎเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษด้านการเกษตร
ทรงเป็นนักดนตรี เพราะตระกูลฝ่ายพระมารดาเป็นนักละครและนักดนตรี มีคุณตา คือ “เจ้าพระยามหินทรศักดิดำรง”(เพ็ง เพ็ญกุล) มีคณะละครและวงดนตรีวงใหญ่
เมื่อเสด็จกลับมาทรงรับราชการ ในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมาทรงเป็นอธิบดี กรมช่างไหม ทรงเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานเกี่ยวกับไหมไทย
คราวหนึ่งเสด็จตรวจราชการภาคอีสาน เสด็จโดยทางเกวียนเป็นทางไกล ทรงนิพนธ์เพลง “ลาวดำเนินเกวียน” เพื่อให้คู่กับ “เพลงลาวดำเนินทราย”
ทำนองเพลงและบทร้องไพเราะซาบซึ้งยอดเยี่ยม เป็นที่นิยมจดจำกันนำมาร้องต่อๆ กันมา
เนื้อร้องมีคำว่า “ดวงเดือน” ตั้งแต่เริ่มต้นและอีกหลายแห่งจนจบ ผู้ไม่รู้จักมาแต่ต้น ต่างเรียกเพลง “ลาวดำเนินเกวียน” ว่า “ลาวดวงเดือน” กันทั้งนั้น
เบื้องหลังของเพลงลาวดวงเดือน มีเหตุแห่งความดลใจเพื่อทรงระบายความรักความอาลัยที่ต้องพลาดรักกับเจ้าหญิงในตระกูลฝ่ายเหนือ
ตามเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในขณะมีพระชนม์ 21 พรรษาได้เสด็จไปเที่ยวนครเชียงใหม่ พระยานริศราราชกิจข้าหลวงใหญ่ภาคพายัพได้รับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ
“เจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์” (พระเชษฐาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5) พระญาติ จัดงานต้อนรับหลายวัน มีการแสดงพื้นเมือง ระบำรำฟ้อน
“เจ้าราชสัมพันธวงศ์ (ธรรมลังกา)” และ “เจ้าหญิงคำย่น” ชายา ได้พาพระธิดาองค์โตนามว่า “เจ้าหญิงชมชื่น” มาร่วมงาน
พระองค์เจ้าชายพบปะสนทนาและทรงพอพระทัย เจ้าหญิง วัย 16 พรรษา จนเกิดความรักครั้งแรก
หลังจากนั้น ได้เสด็จไปที่คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์อีกหลายครั้ง ในที่สุด ทรงขอให้ข้าหลวงใหญ่เป็นเถ้าแก่สู่ขอเจ้าหญิงให้เป็นหม่อมของพระองค์
แต่เจ้าราชสัมพันธวงศ์ทัดทานไว้ ขอให้เจ้าหญิงมีพระชนม์ครบ 18 เสียก่อน และให้ปฏิบัติตามราชประเพณี
คือพระเจ้าลูกยาเธอจะเสกสมรสต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน เพื่อให้อยู่ในฐานะสะใภ้หลวง…มิฉะนั้นจะได้เป็นเพียงนางบำเรอเท่านั้น
เถ้าแก่ผู้ทำหน้าที่สู่ขอ นำความผิดหวังมาทูล เมื่อไม่สมหวังต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ ทรงกลับมาขอความเห็นพระทัยจากพระญาติใหญ่น้อยทั้งหลาย แต่ไม่เป็นผล
การสู่ขอเจ้าหญิงได้รับการทัดทาน หมดสิ้นความหวังทุกประการ พระองค์ทรงนึกถึงแต่ชีวิตในนครเชียงใหม่ของพระองค์มิได้ขาด
ความผิดหวังทำให้ทรงโปรด เพลง ลาวเจริญศรี (เนื้อร้องจากวรรรคดีเรื่องพระลอ) และนำมาสู่แรงบันดาลใจนิพนธ์เพลง “ลาวดำเนินเกวียน” หรือต่อมาเรียกกันว่า “ลาวดวงเดือน”
ผู้นิพนธ์ได้แต่ทรงสะอื้นอยู่ในพระอุระและเดียวดาย คราใดที่สายลมเหนือพัดมาจากเชียงใหม่พระองค์ก็ยิ่งทรงสลดรันทดพระทัย
……..ฯลฯ……..
ครับ ในที่สุด ด้วยรักแรกที่ไม่สมหวัง พระองค์ทรงตรอมพระทัย สิ้นพระชนม์ ด้วยพระชันษาแค่ ๒๗ ปี
ต่อมาไม่นาน ในปีเดียวกัน
“เจ้าหญิงชมชื่น” ก็ตรอมใจตายตามกันไป ด้วยอายุ ๒๓ ปี!
ข้อยนี้รัก แสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรม ต้องจำจากไกล
อกพี่อาลัย เจ้าดวงเดือนเอย
อืมมมม…
ทราบที่มา ยิ่งทำให้ซาบซึ้ง “ม.ราชภัฏอุดรธานี” เป็นเท่าตัว มีครูบาอาจารย์ บ่มเพาะนักศึกษาใจสูง ละเอียดอ่อนได้อย่างนี้
“ชาติไทย” มี “รุ่นใหม่” อย่างนักศึกษา “ม.ราชภัฏอุดรธานี” สืบสานรักษาได้แน่นอน
“รุ่นเก่า” อย่างผม “ตายตาหลับ” ครับ!