หากมองสิ่งเหลือใช้ให้เป็นวัตถุดิบ ก็สามารถใช้ความรู้รีไซเคิลช่วยสิ่งแวดล้อม…แบ่งปันให้โลกน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการ “จักรยานรีไซเคิลเพื่อน้องบางระกำ…ตามศาสตร์พระราชา” แท็กทีมจิตอาสารวมพลังรีไซเคิลจักรยานสำหรับน้องนักเรียน โดยมี ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นประธานส่งมอบจำนวน 40 คัน แก่ พ.ต.ท. โสภณ มุ้ยจั่น ผู้แทนจากโรงเรียนบางระกำ จ.พิษณุโลก
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จักรยานและรถรางไฟฟ้า เป็น Mobility ของการสัญจรหลักในคณะวิศวกรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการยกย่องเป็น Green University ในแต่ละปีมีจักรยานที่นักศึกษาซึ่งจบไปและไม่ได้ใช้แล้ว รวมกับจักรยานบริจาคจำนวนมาก ขณะที่โรงเรียนบางระกำ ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก มีแนวคิดในการส่งเสริมนักเรียนปั่นจักรยานจากบ้าน ไป-กลับ โรงเรียน เพื่อสุขภาพของนักเรียน และลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ทั้งเป็นพาหนะที่ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทางโรงเรียนยังขาดแคลนจักรยานสำหรับนักเรียน งานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ESR) ในการบริหารของ ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดี จึงได้จัดโครงการ “จักรยานรีไซเคิลเพื่อน้องบางระกำ…ตามศาสตร์พระราชา” โดยระดมทีมจิตอาสาจากนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ มาชุบชีวิตจักรยานเก่า ให้กลับมาใช้งานวิ่งฉิวได้อีกครั้ง นับเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ส่งเสริมการรีไซเคิลซึ่งลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมวิถีการสัญจรเพื่อสุขภาพและไร้มลพิษแก่เยาวชน ฝึกฝนการใช้ทักษะทางวิศวกรรมของนักศึกษาและทีมจิตอาสา รวมทั้งเป็นการสืบสานศาสตร์พระราชาในการแบ่งปันช่วยเหลือสังคมส่วนรวม
สุชานันท์ พิทยาธรไชยศรี นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจิตอาสานี้ เพราะเราอยู่ในโลกยุค Circular Economy สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน หากมีแต่คนทิ้งอย่างเดียว โลกจะเต็มไปด้วยขยะ การได้ใช้ความคิดและทักษะความรู้ในการซ่อมจักรยาน ทำให้เราได้ส่งมอบสิ่งดี ๆ มีประโยชน์ให้กับน้องเยาวชนที่อยู่ห่างไกลด้วยค่ะ จักรยานที่เรานำมาซ่อมและเปลี่ยนโฉม ส่วนใหญ่จะมีส่วนที่ชำรุดและสึกหรอ เช่น ยางแข็งกระด้างหมดสภาพ สีลอกบ้าง เราก็ช่วยกันทาสีใหม่ เปลี่ยนโซ่ทั้งด้านหน้า-หลัง เปลี่ยนยาง เปลี่ยนผ้าเบรค สายเบรค รวมไปถึงซ่อมเบาะนั่ง ตะกร้าหน้ารถ แล้วแต่สภาพของแต่ละคันค่ะ รู้สึกสนุกและประทับใจมากตอนที่เห็นจักรยานที่เสร็จแล้วทั้ง 40 คัน โหลดขึ้นรถบรรทุกเตรียมขนส่งไปที่โรงเรียน มีความสุขที่ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อน้องๆนักเรียนได้ใช้งาน ประหยัดสตังค์และพลังงานอีกด้วย
ณัฐธิดา อัลภาชน์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จักรยานแต่ละคันมีความหมายกับอีกหลายชีวิต เห็นรอยยิ้มของน้องๆ บางระกำแล้วรู้สึกหายเหนื่อยเลยค่ะ ดีใจกับน้อง ๆ ที่จะได้ใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางไป-กลับโรงเรียน ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ที่จะต้องมารับมาส่งได้อีกทางค่ะ ในช่วงที่เรารีไซเคิลซ่อม-สร้าง แม้จะไม่เคยมีความรู้ในการซ่อมจักยานมาก่อน แต่ไม่ใช่ปัญหา เพราะได้เรียนรู้ถึงอุปกรณ์และวิธีซ่อมเครื่องมือจากทีมช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำ เบื้องต้นเราจะต้องตรวจสภาพจักรยานก่อนเพื่อประเมินความเสียหายของจักรยาน แล้ววางแผนซ่อมปรับปรุง หากชำรุดไม่มาก เปลี่ยนอะไหล่ใหม่ก็สามารถใช้งานได้เลย จะใช้เวลาซ่อมคันละประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่จักรยานบางคันประเมินแล้วยากที่จะซ่อมแซม เนื่องจากโครงสร้างเสียหายหนักจากการล้มหรือชน เราก็จะนำอะไหล่ที่ยังสามารถใช้งานได้ดีอยู่ ถอดออกมาเพื่อนำไปประกอบให้กับจักรยานคันอื่น ๆ นอกจากใช้ความรู้ซ่อมจักรยานแล้ว ยังได้มารู้จักเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยที่มาช่วยกันด้วยค่ะ
หนึ่งในทีมจิตอาสา ปิยะ ไพบูลย์รุ่งโรจน์ วิศวกรภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พื้นฐานของวิศวกรรม คือ วิเคราะห์ ออกแบบและพัฒนา ทุกคนจะมีพื้นฐานตรงนี้อยู่แล้ว เครื่องไม้เครื่องมือพร้อม นำความรู้พื้นฐานทางวิศวะมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น การเชื่อมเหล็ก ขัด ถู อ๊อกเหล็ก รวมไปถึงงานทางด้านไฟฟ้า ในโครงการนี้ผมมีหน้าที่สอนและบอกเทคนิคการซ่อมแซมแก่ทีมนักศึกษาจิตอาสา ว่าควรจับตรงไหน มุมไหนถึงจะง่ายต่อการซ่อมแซม การถอดล้อด้านหน้า-ด้านหลัง การเปลี่ยนยางด้านใน-ด้านนอกทำอย่างไร ในการส่งมอบจักรยานรีไซเคิลแก่โรงเรียนบางระกำ เราได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาจักรยานแก่เด็กนักเรียนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจักรยานนั้นจะมีราคาถูกหรือแพง ถ้าขาดการดูแลอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอแล้ว จะทำให้อายุการใช้งานสั้นลงและอาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ สำหรับหลักการดูแลรักษาจักรยานเบื้องต้น เช่น ควรตรวจเช็คและเติมลมยางสัปดาห์ละครั้ง, ตรวจดูความตึงของโซ่ เบรค หรือน็อตต่างๆ ให้พร้อมใช้เสมอ, หากโซ่มีปัญหาขึ้นสนิม ควรทำความสะอาดและหยอดน้ำมันเป็นระยะ, ไม่จอดจักรยานทิ้งตากแดดจัด หรือตากฝนนานเกินไป เป็นต้น
โลกยิ้ม…ความสุขที่ผลิบานจากเจ้าของจักรยานเก่า จิตอาสานักรีไซเคิล ไปถึงหลายชีวิตในโรงเรียน