นายกรัฐมนตรีชี้แจงการแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นไปตามสถานการณ์ เหตุผล ความจำเป็น ไม่มีการตัดสินใจผิด

2 ก.ย. 64 เวลา 10.55 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจง ดังนี้

1. รัฐบาลได้ปรับกลยุทธ์ด้านการสาธารณสุขเพื่อรับมือสายพันธุ์เดลต้าตามสถานการณ์มาโดยตลอด ระลอกแรก (ช่วงปีแรก 2563) เน้นมาตรการในภาพรวม “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และมาตรการระดับบุคคล (DMH) “เว้นระยะห่าง – ล้างมือ – สวมหน้ากากอนามัย” ทำให้สามารถควบคุมการแพร่เชื้อจากต่างประเทศ และควบคุมการระบาดในประเทศได้ / ใช้เวลาประมาณ 70 วัน ระลอก 2 (ระยะเวลา 3 เดือน : ม.ค.-มี.ค.64) เน้นแนวทาง Bubble & Seal เจอที่ไหน-กักโรคที่นั่น จำกัดการระบาดในคลัสเตอร์ไม่ให้แพร่เชื้อไปภายนอก ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจ ให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด พิจารณามาตรการเพิ่มเติมในพื้นที่ของตน ตรวจหาเชื้อเชิงรุก และการสอบสวนโรค / รวมทั้งการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว ส่งผลให้สามารถควบคุมการระบาดได้ ใช้เวลา 80 วัน โดยประมาณ

2. ปรับกลยุทธ์รับมือการระบาดไวรัสกลายพันธุ์ “เดลต้า” ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการ ทำให้รัฐบาลต้องปรับกลยุทธ์อีกครั้ง เพื่อความรวดเร็วและประสิทธิภาพจึงได้ คิดค้นสูตรการฉีดวัคซีน “ไขว้ชนิด” และการฉีดบูธสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า รวมทั้งกลุ่มเสี่ยง

– ใช้มาตรการควบคุม ตามระดับความรุนแรง “จังหวัดเขียว-เหลือง-แดง” การประกาศ Lock down เฉพาะจังหวัด “สีแดงเข้ม” เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ เป็นภาระของประชาชนจนเกินความจำเป็น

– จัด ศบค.กทม./เขต (4 พ.ค.64) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน / เอื้อต่อการระดมทรัพยากรเข้ามาบริหารสถานการณ์การระบาดใน กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ “ไข่แดง” ของประเทศ

– สำหรับแต่ละจังหวัด ก็มีการเพิ่มมาตรการและข้อกำหนดสำคัญฯ เช่น การปิดสถานบันเทิง + ปิดสถานที่เสี่ยงตามบริบทของพื้นที่ / มีการออกมาตรการแบบเฉพาะพื้นที่ เช่น มาตรการ Bubble & Seal พื้นที่ก่อสร้าง + โรงงาน

– การลดความตึงเครียดในระบบสาธารณสุขของเมืองหลวง โดยมีการส่งกลับไปรักษาภูมิลำเนาในระบบปิด ไม่ให้เกิดการนำเชื้อกลับไปแพร่ระบาดในพื้นที่

-การเร่งระดมตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชน ด้วยทีม CCRT และทีมแพทย์ชนบท

– การเพิ่มขีดความสามารถระบบนำตัวเข้ารับการรักษาตามอาการ + เข้าถึงยารักษาเร็วขึ้น + ส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย (ฟ้าทะลายโจร)

– การเพิ่มศักยภาพในการรักษา เพื่อรองรับผู้ป่วยรายใหม่รายวันที่สูงมาก เช่น การเพิ่ม รพ.สนาม + ศูนย์แรกรับ การเสริมด้วยระบบ Home Isolation / Community Isolation / Factory Community Isolation

– การให้เอกชนตั้ง Company Isolation เพื่อเพิ่มการตรวจ ATK พนักงาน/แรงงาน “ทุกสัปดาห์”
ส่งผลให้ ปัจจุบันมีแนวโน้มของสถานการณ์ที่ดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลง / ยอดผู้หายป่วยกลับบ้านสูงขึ้น และจำนวนเตียงในระดับสีต่างๆ ผ่อนคลายลง / ศบค.เริ่มมาตรการผ่อนคลายในบางกิจกรรมที่จำเป็นต้องการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพ

3. มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลออกมาตรการใหม่ เรียกว่า Factory Sandbox ที่มุ่งเน้นการป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน ในภาคการผลิตที่สำคัญต่อการส่งออกของประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจะนำร่องในบางจังหวัดก่อน โดยมีกระบวนการที่ชัดเจน ได้แก่ ตรวจ.คัดกรองด้วย RT-PCR 100% (1 ครั้ง) แล้วตรวจ ATK “ทุกสัปดาห์” รักษามีสถานที่แยกกักตัว เช่น Hospitel โรงพยาบาลสนาม ดูแลเร่งฉีดวัคซีนให้แรงงาน เน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงและคนท้อง และออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” ควบคุมด้วยตามมาตรการ Bubble & Seal และแนวปฏิบัติ DMHTT ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้แรงงานในภาคการส่งออก กว่า 3 ล้านคน สามารถทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งสถิติการส่งออกในสภาวะวิกฤตโควิดเดือน มิ.ย. 64 เดือนเดียว มูลค่าการส่งออกกว่า 789,000 ล้านบาท (สูงที่สุดในรอบ 11 ปี) เดือน ก.ค.เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขยายตัวกว่า 20% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัว 4 เท่าจากเป้าทั้งปี

4. การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอองค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติรับรองวัคซีนโควิด-19 อยู่เพียง 7 ยี่ห้อเท่านั้น ตลาดวัคซีนเป็น “ตลาดของผู้ขาย” ไม่ใช่ตลาดของผู้ซื้อ แต่รัฐบาลก็ได้ทำทุกวิถีทาง โดยติดต่อกับผู้นำประเทศผู้ผลิตวัคซีน ผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตวัคซีนชนิดต่างๆ รวมถึงการใช้ช่องทางทางการทูต และเอกชน ช่วยติดต่อขอซื้อวัคซีนจากผู้ผลิต ประเทศต่างๆ มาโดยตลอด ไทยโชคดีที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเลือกโรงงานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ให้เป็น “ฐานการผลิตวัคซีน” สำหรับกระจายในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน จึงทำให้ไทยอยู่ในสถานะที่มีความมั่นคงด้านการจัดหาวัคซีนสูงกว่าประเทศอื่นๆ

รัฐบาลตัดสินใจเลือกเจรจาซื้อวัคชีน “โดยตรง” จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อใช้เป็น “วัคซีนหลัก” ภายในประเทศ เสริมด้วย Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย ผลิตด้วยเทคโนโลยีดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง แต่ราคาอาจสูงกว่าบ้างเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ผลิตยากกว่า ก็เป็นการตัดสินใจที่เหมาะสม ในบริบทที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ ไทยได้เร่งฉีดวัคซีนไปแล้ว มากกว่า 31 ล้านโดส (ณ วันที่ 31 ส.ค.64) ไทยฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน เป็นอันดับที่ 25 ของโลกโดย “หนึ่งล้านโดสแรก” ใช้เวลา 54 วัน ครบ “10 ล้านโดสแรก” ใช้เวลา 124 วัน “10 ล้านโดส ต่อมา” ใช้เวลาเพียง 36 วัน “10 ล้านโดส ล่าสุด” ใช้เวลา “ลดลง” มากเหลือเพียง 20 วัน ผมต้องขอขอบคุณความทุ่มเทอย่างที่สุดของทุกภาคส่วน / ที่ช่วยกันทำงานจนทำให้ประเทศไทยกลายเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนต่อวัน ได้มากที่สุดในโลก

5. การไม่เข้าร่วม COVAX การตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ตั้งแต่แรก ก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่เป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ ถึงผลได้ผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวม เนื่องจากประเทศไทยอยู่ใน “กลุ่มประเทศที่สั่งซื้อวัดซีนเอง” (Self-financing participants) ทำให้ ณ ช่วงเวลานั้น หากรัฐบาลเข้าร่วมโครงการ จำเป็นต้องวางเงินมัดจำในวงเงินที่สูง และมีเงื่อนไขจำกัดหลายประการ อีกทั้งยังไม่สามารถกำหนดเวลารับวัคซีนได้ หลายประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วม COVAX ได้รับวัคซีนแล้วจาก COVAX ถือเป็นสัดส่วนที่ “น้อยมาก” บางประเทศได้รับเพียงหลัก “แสน – ล้านต้นๆ” เมื่อเทียบ โควตาการจอง กับ จำนวนที่ได้รับจริง สำหรับประเทศไทย ได้รับแอสตราเซเนก้า “โดยตรง” จากบริษัท จำนวน 13.8 ล้านโดส (จาก 61 ล้านโดส) ถือว่าเป็นจำนวนที่ “สูงกว่า” หลายประเทศในอาเซียน ที่ได้รับจากโรงการ COVAX

6. การปรับกลยุทธ์เรื่องวัคซีน เพื่อรับมือ “เดลต้า” ไวรัสกลายพันธุ์ “เดลต้า” แพร่กระจายเชื้อได้เร็วขึ้นหลายเท่าตัว และผู้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น วัคชีน “รุ่นแรก” ของทุกยี่ห้อ มีประสิทธิภาพลดลง เมื่อต้องเผชิญกับไวรัสกลายพันธุ์ “เดลต้า”ประเทศที่ฉีดด้วยวัคซีน mRNA เป็นหลัก และฉีดครอบคลุมจำนวนประชากรของประเทศ ประมาณร้อยละ 70 เช่น อิสราเอล + สหรัฐ ต่างก็ประสบปัญหา ทั้งนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ คณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญของไทย ก็พยายามศึกษาหาแนวทางการฉีดวัคชีน “แบบไขว้” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัคซีนสูงขึ้น และฉีดในระยะเวลาที่เร็วขึ้น สอดรับกับการป้องกันการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้ดีขึ้น

7. เหตุผลที่รัฐบาลยังใช้ ซิโนแวค WHO ย้ำเสมอว่าวัคซีนทุกชนิด มีประสิทธิภาพ “กันป่วย – กันตาย” ซิโนแวคเป็น “วัคซีนเชื้อตาย” ที่มั่นใจได้ว่า “ผลข้างเคียงน้อย” อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ซิโนแวค สั่งซื้อแล้ว “พร้อมส่ง” ตามจำนวน และเวลาที่เราต้องการ และใช้ในการฉีดไขว้ซิโนแวค และแอสตราเซเนก้า สร้างภูมิต้านทานได้ในเวลาที่สั้นกว่า เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์เดลด้าแพร่กระจายง่ายและเร็ว

8. ขอให้ระมัดระวังการด้อยค่าวัคซีน เพราะอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

9. ความสำเร็จการรับมือ “เดลต้า” ช่วงที่ผ่านมาจำนวนผู้หายป่วยกลับบ้าน ในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นกว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ โดยตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. เป็นต้นมา หรือ 10 วันที่ผ่านมา (21– 30 ส.ค.64) มีผู้หายป่วยสะสม 20,671 ราย (หรือ เฉลี่ยหายป่วยกลับบ้าน “มากกว่า” ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 2,473 คน/วัน จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล “ลดลง” อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 24 ก.ค.64 ที่มากกว่า 80,000 ราย เหลือเพียง 14,000 ราย ในวันที่ 30 ส.ค. 64 ทั้งนี้ ภาพรวมของการรอจัดสรรเตียงในระบบ Call center ผ่อนคลายลงอย่างมาก สัดส่วนผู้ป่วย “เขียว-เหลือง-แดง” คือ 5,000 : 1,500 : 100 โดยประมาณ

ที่รอการเข้ารับการรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการป่วย ปรับลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนเหลือสัดส่วนการรอเตียงเขียว-เหลือง-แดง ด้วยสัดส่วน 159 : 196 : 36 และในปัจจุบันมีผู้ป่วยเขียวเพียง 30% ที่รอเตียงในระบบ Call Center เกิน 3 วัน ผู้ป่วยเหลือง 37% รอเตียงในระบบ Call center เกิน 2 วัน ในขณะที่ผู้ป่วยแดง 25% ได้เตียงภายใน 1 วัน ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยในระบบ “ทรงตัว” ที่ประมาณ 200,000 ราย ในขณะที่มีคนหายป่วยกลับบ้าน “เพิ่มขึ้น” ทุกวัน ย่อมทำให้ระบบสาธารณสุข หรือการครองเตียงคลายตัวลง เป็นผลดี ให้ผู้ป่วย “เหลือง-แดง” มีโอกาสได้รับการรักษาได้อย่างเต็มที่มากขึ้น อัตราการเสียชีวิตลดลง

10. เปรียบเทียบการบริหารสถานการณ์โควิด ในภาพรวม (ตลอดระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน) ประเทศไทยรับมือการระบาดระลอกนี้ได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ตัวเลขการติดเชื้อและอัตราการตาย “สะสม” ต่อประชากร 1 ล้านคน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว มากกว่า 217 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตเกือบ 4.5 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด และมีอัตราการติดเชื้อต่อประชากรทั่วโลกเฉลี่ย 2.8 % เท่ากับว่า คนจำนวน 100 คน จะมีโอกาสติดเชื้อประมาณเกือบ 3 คน และคน 100 คนที่ติดเชื้อ จะมี 2 คนที่มีโอกาสเสียชีวิต ตัวเลขนี้คือตัวเลขเฉลี่ยทั่วโลก

แต่ตัวเลขของประเทศไทย พบว่าอัตราการติดเชื้อ และสัดส่วนการตายของไทยเรา “ต่ำกว่า” ค่าเฉลี่ยของโลก โดยประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 1.8% และมีสัดส่วนการตายอยู่ที่ 0.96% กล่าวคือคนไทย 100 คน จะมีโอกาสติดเชื้อประมาณ 1.8 คน และคนที่ติดเชื้อ 100 คน จะมีโอกาสเสียชีวิตไม่ถึง 1 คน สรุปได้ว่าไทยมีอัตราการตาย “ต่ำมาก” ประเทศหนึ่งในโลก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งโลก

และเมื่อเปรียบเทียบประเทศในบริบทใกล้เคียงกัน ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจอย่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ก็พบว่าประเทศไทยไม่ได้มีอัตราการติดเชื้อและอัตราการตายสูงที่สุดในอาเซียน รวมทั้งในด้านการฉีดวัคซีนประเทศไทยก็ไม่ได้ดำเนินการล่าช้าที่สุด หรือฉีดให้กับประชาชนได้น้อยที่สุดอย่างที่ถูกกล่าวอ้าง

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากประชาชน ขอให้ร่วมมือกับภาครัฐร่วมกันเพื่อให้สามารถเดินหน้าเปิดประเทศไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Written By
More from pp
“อนุสรณ์” แนะ ทุกฝ่ายใช้เวทีสภา 26-27 ต.ค.นี้ พูดความจริงกับประชาชน
25 ตุลาคม 2563 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ ถูกจับตามองว่าจะเป็นเวทีหาทางออกจากปัญหาวิกฤติชาติ หรือจะกลายเป็นเวทีเติมเชื้อไฟความขัดแย้ง
Read More
0 replies on “นายกรัฐมนตรีชี้แจงการแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นไปตามสถานการณ์ เหตุผล ความจำเป็น ไม่มีการตัดสินใจผิด”