ผักกาดหอม
เอาไงล่ะ
ศบค.บอกว่าให้งด กิจกรรมรวมกลุ่ม ไปก่อน
ครอบครัว ชุมชน เพื่อนฝูง ที่ทำงาน เสี่ยงเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ได้ทั้งนั้น
ก็กลุ้มใจแทนม็อบจตุพรซิครับ
เห็นว่า ๒๔ มิถุนายน จะไปกันเต็มหน้าทำเนียบรัฐบาล
สามนิ้วก็บอกว่า จะดันเพดาน
ก็คงห้ามกันไม่ได้ครับ แต่พึงรู้ไว้ว่า หากโควิดระบาดในพื้นที่ชุมนุม อย่าไปถามหาความรับผิดชอบจากคนอื่น ให้โทษตัวเอง
ครับ…ก็ว่ากันไปตามฤดูกาล ๒๔ มิถุนายน วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง กิจกรรมหลักๆ หนีไม่พ้นเชิดชู คณะราษฎร ๒๔๗๕
วันนี้มาเรียนวิชาประวัติศาสตร์กัน!
ปี่กลองเชิดแล้ว สามนิ้ว ชื่นชม ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติที่ไร้ความรุนแรง
เด็กรุ่นใหม่ก็ว่าไปตามตำราฝั่งเชิดชูคณะราษฎร
เท่าที่เห็นส่งต่อกันในโซเชียล บอกว่า
….การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของประเทศไทย ทำให้เรามีประชาธิปไตยและอำนาจที่เคยเป็นของพระมหากษัตริย์ก็ได้กระจายสู่ราษฎรทุกคน โดยปราศจากความรุนแรง
การเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่ามิใช่สิ่งที่น่ากลัวแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีความหวังอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น พวกเราสามารถช่วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเสียเลือดเสมอไป
หวังว่าท่านทั้งหลายจะพึงรู้ว่าประเทศไทยเป็นของประชาชนทุกคน มิใช่ของใครเพียงกลุ่มเดียว ไม่มีใครสมควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่มีใครอยากสูญเสีย
ราษฎรทุกคนจำเป็นต้องออกมาสู้ไปด้วยกัน ออกมาเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ดีกว่า และออกมาเพื่อปกป้องอนาคตที่สวยงามของพวกเรา…..
ฟังดูไม่ต่างจากประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑
….ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง
บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม
เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ
จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย….
…ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร
การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง
ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร
สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า….
ครับ…ผ่านมา ๘๙ ปี สิ่งที่คณะราษฎรอ้างในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ยังดำรงอยู่ สาเหตุมาจากอะไร?
ตำราเรียนส่วนใหญ่ พูดถึงคณะราษฎร คือผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่มีตำราเรียนเล่มไหน พูดถึงการแย่งชิงอำนาจกันเองของคณะราษฎร ที่เกิดขึ้นร่วม ๒๕ ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมทางการเมือง รัฐประหาร สลับการเลือกตั้งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
มีประเด็นน่าสนใจ การเปลี่ยนแปลง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่เกิดความรุนแรงเพราะใคร คนรุ่นหลังควรได้รับรู้ความจริง
หลังทำการยึดพระราชอำนาจจากพระมหากษัตริย์ เมื่อคณะผู้ก่อการได้จับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน อาทิ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อภิรัฐมนตรี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี, พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก, พลตรี หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย (สวัสดิ์ บุนนาค) เสนาธิการทหารบก เป็นต้น
และเมื่อคณะราษฎรได้ตัวประกันคนสำคัญมาครบ จึงได้ออกประกาศว่า
“ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงศานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย”
หมายความว่าหากมีการขัดขวาง ก็มีโอกาสนองเลือดใช่หรือไม่?
ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีการบันทึกไว้เช่นกัน นั่นคือบันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ปรากฏความตอนหนึ่งว่า
…..”ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้ แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯ อาจจะถูกฆ่าหมด
ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครอง โดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ”….
และจากบันทึกไว้ในหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตอนหนึ่งเล่าว่า
ไม่ช้าก็มีเสียงติติงว่าในหลวงขี้ขลาด จะเสด็จไปไหนก็พกเอาปืนเล็กไปด้วยติดพระองค์ พวกเจ้าบางคนหัวเราะเยาะว่าปืนเล็กเท่านั้นจะไปทำอะไรใครได้
แต่ข้าพเจ้าได้ยินในหลวงตรัสว่า
…ปืนนี้มีลูกอยู่สองลูก ลูกหนึ่งสำหรับหัวหญิง (สมเด็จพระราชินี) ก่อนลูกหนึ่ง แล้วฉันเองหนึ่งลูกเป็นเสร็จ เพราะถ้าจะจับฉันบังคับให้เซ็นอะไรที่หลอกลวงราษฎรแล้ว เป็นยิงตัวตาย…
ครับ….ความรุนแรง ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีแน่นอน
และผู้ที่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงไม่ใช่คณะราษฎร
แต่เป็น ในหลวงรัชกาลที่ ๗