ช่วยชาวนาทันที! จุรินทร์ แจงสภาฯ ชาวนาได้ประโยชน์เต็มจากประกันรายได้ จ่ายส่วนต่าง 16 พย.นี้

11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

โดยเป็นการทำหน้าที่ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เกี่ยวกับราคาข้าวตกต่ำ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเกษตรกร รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าว สำหรับข้าวอยากเห็นข้าวมีราคาดีแต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียวขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิต และความต้องการในแต่ละปีด้วย และในปีการผลิตที่ผ่านมาเป็นยุคหนึ่งในรอบ 10 ปี ที่ราคาข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงเกวียนละ 10,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้า เพราะหลายมาตรการของรัฐบาลประกอบกับกลไกตลาดในช่วงเวลานั้น แต่สำหรับภาพรวมผลผลิตปี 2563 มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 6

และช่วงนี้ที่ราคาข้าวอ่อนลงเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปีผลผลิตข้าวจะออกมากและจะมีผลกระทบเช่นนี้ทุกปี ประกอบกับโรงสีได้ซื้อข้าวเก่าเก็บไว้ในราคาสูง และยังไม่สามารถระบายออกได้ แล้วก็ขาดสภาพคล่อง

รัฐบาลจึงจะออกมาตรการหลายมาตรการในการช่วยดึงราคาในตลาด 1.ชะลอขายโดยทางเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร ชะลอขายข้าวเก็บไว้ มีเงินช่วยเหลือสนับสนุน ตันละ 1,500 บาท 2.ถ้าเป็นสหกรณ์และโรงสีเก็บข้าวไว้ รัฐบาลจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 และธ.ก.ส.มีมาตรการในการให้สินเชื่อกับโรงสีเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน เพื่อซื้อข้าวมาเก็บไว้ลดปริมาณข้าวในตลาด โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 และรัฐบาลมีสินเชื่อ SME ด้านการเกษตรโดยให้โรงสีสามารถกู้ในวงเงินถึงรายละ 20 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 เป็นต้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สัปดาห์นี้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในจะเชิญธนาคารพาณิชย์และแบงค์ชาติมาหารือในการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆในการปล่อยสินเชื่อให้กับโรงสีในการที่จะไปเร่งรับซื้อข้าวจากเกษตรกร แต่ไม่ว่าพืชเกษตรตัวใดใน 5 ตัว ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถ้าราคาลดลงมาจากรายได้ที่ประกันไว้ รัฐบาลยังมี “นโยบายประกันรายได้เกษตรกร” เป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวสามารถมีรายได้ตามรายได้ที่ประกันไว้ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ตให้เริ่มต้นนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิตปีนี้

“โดยคณะอนุกรรมการได้เคาะเงินส่วนต่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว รายได้ที่ประกันและเงินส่วนต่างที่เกษตรกรจะได้รับนั้น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ประกันรายได้ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ได้ส่วนต่างตันละ 2,911 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ประกันรายได้ตันละ 14,000 บาท ส่วนต่างตันละ 2,137 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ประกันรายได้ตันละ 10,000 บาท ส่วนต่างตันละ 1,222 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ประกันรายได้ตันละ 11,000 บาทส่วนต่างตันละ 1,066 บาท ข้าวเหนียวประกันรายได้ตันละ 12,000 บาท ส่วนต่างตันละ 2,084 บาท

สำหรับการจ่ายเงินงวดแรกวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นี้ จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแต่ละชนิดรับเงินส่วนต่างสูงสุด ถ้าปลูกข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 26,674 บาท ข้าวเหนียวจะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 33,349 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 36,670 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด 34,199 บาท และข้าวหอมมะลิจะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุดถึง 40,756 บาท ต่อครัวเรือนจะเป็นตัวช่วยจากนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาล” นายจุรินทร์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้รัฐบาลมีเงินช่วยพิเศษสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เรียกว่า เงินค่าพัฒนาคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ จะได้รับครัวละไม่เกิน 20,000 บาท โดยแบ่งเป็น 2 งวด งวดที่ 1 ได้รับ 500 บาท งวดต่อไป 500 บาทจะช่วยชาวนาเพื่อลดปัญหารายได้ลดลงถ้าอยู่ในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ ส่วนมาตรการระยะยาวรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเข้าไปดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยใช้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย  5 ปี ตั้งแต่ปี 63-67โดยยุทธศาสตร์ข้าวกำหนดยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนว่า ใน 5 ปีเราจะทำให้ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลกโดยเน้นข้าว 7 ชนิด


ประกอบด้วยข้าวหอมมะลิข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง ข้าวเหนียว ข้าวสี และข้าวคุณลักษณะพิเศษ โดยเน้นตลาด 3 ตลาดคือ ตลาดพรีเมียม ตลาดทั่วไปและตลาดเฉพาะ และที่สำคัญถ้าการผลิตมีเป้าหมายชัดเจนใน 5 ปี จะลดต้นทุนการผลิตให้ข้าวจากไร่ละ 6,000 บาท เป็นไม่เกิน 3,000 บาทต่อไร่ และจะมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตจากไร่ละ 465 กิโลกรัม เป็นไร่ละ 600 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนช่วยให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น และจะมุ่งเน้นในการเพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่ให้ได้ 12 พันธุ์ ภายใน 5 ปี และมุ่งเน้นในการประกวดพันธุ์ข้าวไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้งเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ไปแข่งกับประเทศอื่นในตลาดโลกได้ต่อไป

“ขอให้เพื่อนสมาชิกสบายใจหัวใจเราตรงกัน เป็นผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกัน เราเห็นใจและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ตาม” นายจุรินทร์ กล่าว

Written By
More from pp
ฝนหลวงฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566​ รับมือภัยแล้ง หมอกควันและพายุลูกเห็บทั่วประเทศ
1 มีนาคม 2566  บริเวณหน้าหอบังคับการบิน สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการ ฝนหลวงประจำปี 2566
Read More
0 replies on “ช่วยชาวนาทันที! จุรินทร์ แจงสภาฯ ชาวนาได้ประโยชน์เต็มจากประกันรายได้ จ่ายส่วนต่าง 16 พย.นี้”