7 กันยายน 2563 นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการศึกษา เทคโนโลยี และนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็น 2 ระยะ คือระยะสั้นและระยะปานกลาง ระยะปานกลางคือการแก้ไขมาตรา 256 เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีเงื่อนไขที่ไม่เข้มจนเกินไปและกลับมาใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของทั้งสองสภา แล้วแก้ไขให้ตัวแทนประชาชนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี
อย่างไรก็ตามในระยะสั้นหรือเฉพาะหน้านั้น ควรแก้ไขเนื้อหาบางประเด็นที่จะทำให้ระบบการเมืองดีขึ้น เช่น
1. แก้ไขระบบการเลือกตั้งให้เป็นระบบที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน และการคำนวณจำนวน ส.ส. หลังการเลือกตั้งไม่ซับซ้อน กลับไปใช้การเลือกตั้งระบบสัดส่วนและบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และ
2. แก้ไขมาตรา 272 บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ที่จะให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 159
“ในประเด็นหลังนี้หลายพรรคการเมืองมีท่าทีมานานแล้ว แต่อาจเห็นต่างกันในจังหวะเวลาที่จะยื่นแก้ไข ที่น่าสนใจคือเริ่มมี ส.ว. หลายคนเห็นด้วย และพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ไขในประเด็นนี้ ซึ่งเห็นว่าโอกาสที่จะแก้สำเร็จมีมากขึ้น และทำให้มีความหวังที่ประเทศจะมีกติกาที่เป็นธรรม ซึ่งการเกิดขึ้นของสามัญสำนึกทางการเมือง เป็นสิ่งที่ดี”