โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของ ประชากรทั้งหญิงและชาย และยังเป็นสาเหตุของความพิการ และทุพพลภาพ ที่สำคัญ อีกด้วย “ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 500,000 คน”

โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอาการของแขน หรือใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรง เคลื่อนไหว ลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้อย่าง ทันทีทันใด เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดแดงไป เลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก ทำให้เนื้อสมองขาด อาหารและออกซิเจน เกิดภาวะเนื้อสมองเสียหาย

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต มี สาเหตุสำคัญมาจาก 3 ประการ คือ

1. หลอดเลือดแดงในสมองเสื่อม หรือหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากการสะสมของไขมัน ที่ผนังชั้นในหลอดเลือดแดงเสื่อม จากการสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารไขมันสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
2. หลอดเลือดแดงสมองอุดตันจากลิ่มเลือด หรือชิ้นส่วนของไขมันที่หลุดลอยมา ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ หรือภาวะหัวใจโต
3. หลอดเลือดแดงสมองแตก จากภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ หรือควบคุมได้ไม่ดี หรือเส้นเลือดโป่งพอง เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

1. ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เนื่องจากไปทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ หลอดเลือดจึงแตก ได้ง่าย
2. การสูบบุหรี่ จะลดปริมาณออกซิเจน และเพิ่มความหนืดของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสมองทำให้เกิดอัมพาตได้
3. มีน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น และตีบแคบทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ไปเลี้ยงสมอง ไม่เพียงพอเกิดอัมพาตได้
4. ไขมันในเลือดสูง ทั้งโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ทำให้เกิดเป็นก้อนไขมันเกาะติดกับผนังหลอดเลือด ทำให้ หนาตัวขึ้นและหลอดเลือดตีบแคบ เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดเป็นอัมพาตได้
5. การบริโภคที่ไม่ถูกต้อง โรคอ้วน การรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป การทานอาหารที่มีเกลือ และไขมัน สูง การดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณที่มากเป็นประจำ จะทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูง ไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตมากขึ้น
6. ประวัติเป็นโรคหัวใจ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตมากขึ้น ต้องควบคุมให้อยู่ในภาวะปกติ
7. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อ แม่ พี่น้อง หรือญาติสายตรงและมีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

อาการสำคัญที่ต้องนำส่งโรงพยาบาล

อาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมอง
1. ชาหรืออ่อนแรง บริเวณแขนขา หรือใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง
2. ตามัวหรือเห็นภาพซ้อนทันทีทันใด
3. ปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
4. มึนงง เวียนศรีษะ เดินเซ วิธีการรักษาทำอย่างไร

วิธีการรักษาโรคเส้นเลือดสมองแตก

1. ประคับประคอง หรือผ่าตัด
2. หาสาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตก

วิธีการรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบ และตัน

การรักษาในระยะเฉียบพลัน (ภายใน 270 นาที)

– ประเมินคัดแยกอาการโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันที
– ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินอาการทางระบบประสาท
– การตรวจวินิจฉัยอย่างเร่งด่วนตามมาตรฐานที่กำหนดโดยการเจาะเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
– เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) เพื่อแยกอาการว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดใด
– อธิบายให้ผู้ป่วย หรือญาติทราบรายละเอียดของโรค และแผนการรักษา
– ให้การรักษาด้วยการใช้ยาละลายลิ่มเลือด (rTPA) การให้ยาภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง (270 นาที) หลังเกิดอาการจะทำให้อาการผิดปกติทางประสาทดีขึ้นประมาณ 30% ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีมากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบางกลุ่ม
– Mechanical Thrombectomy การนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมองออกผ่านทางสายสวน เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองส่วนนั้นๆได้

การรักษาในระยะยาว

– ควบคุมภาวะความเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
– รับประทานยา และพบแพทย์สม่ำเสมอ
– ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก หมั่นทำกายภาพบำบัด
– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
– ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา
– กายภาพบำบัด หากผู้ป่วยยังคงมีอาการทุพพลภาพ

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ : ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลสุขุมวิท โทร. 0-2391-0011 ต่อ 225-227
ขอบคุณข้อมูล โดย : พญ.จักษณี ธัญยนพพร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลสุขุมวิท

Written By
More from pp
ยูโอบีแนะธุรกิจบริหารความเสี่ยง ขณะที่โลกก้าวเข้าสู่ปีที่สามของภาวะโรคระบาด โดย นายแอนดี้ เฉี่ย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจ Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
เมื่อต้นปี 2564 ธนาคารยูโอบีมองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ว่า ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย นั่นคือ การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
Read More
0 replies on “โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต”