แพทองธาร เน้นความสำคัญของความเป็นเอกภาพของอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายระดับโลก ย้ำความร่วมมือจากอาเซียนสำคัญต่อการฟื้นฟูสถานการณ์ในเมียนมา ไทยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของมาเลเซียในการหาทางออกที่สร้างสรรค์
26 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 อย่างไม่เป็นทางการ ณ ห้อง Conference Hall 2 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม Kuala Lumpur Convention Center (KLCC) กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 แบบไม่เป็นทางการ ผู้นำอาเซียนได้หารือสถานการณ์ในภูมิภาคและระดับโลกที่อยู่ในความสนใจของประเทศสมาชิก สำหรับไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่โลกกำลังเผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจที่ทวีความรุนแรง ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเผชิญความเสี่ยง และความเชื่อมั่นในระบบพหุภาคีกำลังลดลง
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ท่ามกลางภาวะไม่แน่นอนและการแบ่งแยกที่เพิ่มขึ้น การส่งเสริมระบอบพหุภาคี เพื่อรักษาบทบาทเชิงยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ของอาเซียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาเซียนต้องหลีกเลี่ยงการถูกดึงเข้าไปในการแข่งขันในพื้นที่ขัดแย้ง แต่อาเซียนจะต้องขยายความร่วมมือ และทำหน้าที่เป็นสะพานที่สร้างความไว้วางใจ เพื่อให้แน่ใจว่าการเจรจาร่วมกันเหนือกว่าการแบ่งแยก และความร่วมมือระหว่างกันเหนือกว่าการเผชิญหน้า
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ต้องเสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางและเอกภาพของอาเซียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรักษาความสำคัญของกลไกที่นำโดยอาเซียน ในการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมกับเสริมสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเชิงยุทธศาสตร์ ผ่านการหารือกับทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงและสร้างสรรค์ โดยไทยจะทำงานร่วมกับสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าอาเซียนยังคงเป็นผู้เล่นระดับโลกที่มีความรับผิดชอบ และเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกฝ่าย
สำหรับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อาเซียนต้องยืนหยัดเป็นเสียงเดียวกันในประเด็นสำคัญ และต้องยึดมั่นในค่านิยมหลักที่ปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะ แนวทางร่วมกันของอาเซียนต่อนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่สร้างสรรค์และมีเอกภาพ
ประเด็นทะเลจีนใต้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทะเลจีนใต้ยังคงเป็นจุดตึงเครียดที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และหาทางแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
สำหรับสถานการณ์ในตะวันออกกลางและยูเครน นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้มีการยุติการสู้รบทันที มีการคุ้มครองพลเรือนอย่างเต็มที่ รวมถึงการให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างไม่เลือกปฏิบัติ
สถานการณ์ในเมียนมา นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญของการฟื้นฟูสถานการณ์ในเมียนมา โดยเน้นว่าความร่วมมือจากอาเซียนยังคงมีความสำคัญในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติ ซึ่งไทยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของมาเลเซียในการหาทางออกที่สร้างสรรค์ในเมียนมา และการส่งเสริมความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว โดยประเทศไทยจะยังคงทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาและประธานอาเซียน เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงชายแดน และต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามพรมแดน เพื่อเสริมสร้างความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) พร้อมย้ำว่า การมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นในด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
“ประเทศไทยเชื่อว่าอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิภาคที่สงบสุข มั่นคง และยั่งยืน โดยให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ใช้ช่วงเวลาของความไม่แน่นอนนี้เป็นโอกาสในการนำพาอาเซียนไปข้างหน้า ด้วยความเอกภาพ ความชัดเจนในเป้าหมาย และความมุ่งมั่นในการรักษาบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก” นายกรัฐมนตรีกล่าวปิดท้าย