ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) ร่วมกันจับกุม นายขจรยศฯ ในความผิดฐาน “ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกหลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และร่วมกันฉ้อโกง”
สถานที่จับกุม บริเวณตลาดสดศาลายา ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
สืบเนื่องจาก เมื่อประมาณ พ.ศ.2564 ได้มีมิจฉาชีพ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานจาก DSI หลอกลวงผู้เสียหายรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ใน จ.สมุทรสาคร ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ก่อนจะส่งภาพหมายเรียกและหมายจับให้เหยื่อดู และมิจฉาชีพรายนี้ยังหลอกว่ามีเงินของผู้ค้ายาเสพติดโอนเข้าบัญชีเหยื่อ หากไม่อยากให้บัญชีถูกอายัดต้องถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากทั้งหมดและนำเงินจำนวนดังกล่าวฝากเข้า บัญชีธนาคารทหารไทยธนชาติ ชื่อบัญชี นายขจรยศฯ จนผู้เสียหายหลงเชื่อยอมโอนเงินไปกว่า 900,000 บาท
ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนทราบว่า มีมิจฉาชีพกลุ่มนี้มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ผู้จัดหาบัญชี ผู้รับจ้างเปิดบัญชี ผู้รับจ้างกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ผู้ที่ทำหน้าที่หลอกลวงเหยื่อ หัวหน้าผู้ควบคุมดูแล ไปจนถึงนายทุนส่วน นายขจรยศฯ ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขออนุมัติศาลออกหมายจับในหลายเขตพื้นที่ เนื่องจากบัญชีธนาคารของนายขจรยศฯ ถูกนำไปใช้หลอกผู้เสียหายให้โอนเงินผ่านบัญชีในหลายรูปแบบ
จนกระทั่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ชุดจับกุมสืบทราบว่า นายขจรยศฯ ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับของศาลอาญามีนบุรี และศาลจังหวัดสมุทรสาคร จะเดินทางมาทำธุระที่ตลาดสดศาลายา ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงจึงได้นำกำลังเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณตลาด จนกระทั่ง พบนายขจรยศฯ จึงได้เข้าแสดงหมายจับให้ นายขจรยศฯ โดย นายขจรยศฯ ให้การรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงชุดจับกุม จึงได้แจ้งให้ทราบว่าต้องถูกจับกุม ทำบันทึกจับกุมและนำตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางชัน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้น นายขจรยศฯ ยอมรับว่าในอดีต ตนเองเคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและติดการพนันออนไลน์ จนเป็นเหตุให้มีปัญหาทางการเงิน จึงไปรับจ้างเปิดบัญชีม้า โดยหาประกาศรับซื้อบัญชีธนาคารตามโซเซียลมิเดีย ซึ่งที่ผ่านมานายขจนยศฯ รับว่าขายบัญชีธนาคารไปไม่ต่ำกว่า 10 บัญชี แลกกับเงินประมาณ 5,00-10,000 ต่อบัญชี แต่เมื่อมาถูกจับดำเนินคดีภายหลัง ตนเองยอมรับทั้งน้ำตาว่า ไม่คุ้มกับเงินที่ได้มาเลย เพราะครอบครัวญาติพี่น้องต้องคอยมาประกันตัว ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้กับเหยื่อที่ถูกหลอก เพื่อที่จะช่วยเหลือตนไม่ต้องถูกจำคุก
ผลการปฏิบัติภายใต้อำนวยการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล., พ.ต.อ.ภคพล สุชล ผกก.2 บก.ทล. สั่งการให้ พ.ต.ต.กล้า สมบัติพิบูลย์ สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. ดำเนินการ