ผู้เลี้ยงหมูวอนผู้บริโภคเข้าใจ ราคาตามกลไกตลาด ย้ำราคายังต่ำกว่าต้นทุนผลิต

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยืนยัน การปรับราคาสุกรหน้าฟาร์มเป็นการทยอยปรับตามอุปสงค์-อุปทาน ไม่ได้ปรับครั้งเดียว 12 บาทต่อกิโลกรัม และเกษตรกรยังขายสุกรได้ต่ำกว่าราคาต้นทุน หลังแบกภาระขาดทุนสะสมมานานกว่า 1 ปีแล้ว

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่มีการลงพื้นที่สำรวจตลาดและแจ้งว่ามีการปรับราคาหมูหน้าฟาร์มทั้งตัวขึ้น 12 บาทต่อกิโลกรัมและมีผลต่อราคาเนื้อหมูในตลาดสดต้องปรับสูงขึ้นนั้น เป็นการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากราคาดังกล่าวเป็นการทยอยปรับเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ไม่ใช่การปรับครั้งเดียว ที่สำคัญราคาขายปลีกเนื้อสันในราคาสูง250 บาทต่อกิโลกรัม เพราะสันในเป็นเนื้อส่วนที่มีเพียงชิ้นเดียวในหมู 1 ตัว ราคาจึงสูงเมื่อเทียบกับชิ้นส่วนอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า

“สมาคมฯ ดูแลทั้งผู้บริโภคและเขียงหมู ไม่ได้ปล่อยปละละเลย และพยายามทำทุกวิถีทางให้ทุกภาคส่วนได้รับราคาที่เป็นธรรม ทั้งที่ผู้เลี้ยงยังไม่สามารถขายหมูหน้าฟาร์มได้ตามราคาแนะนำ ซ้ำร้ายยังมีภาระขาดทุนสะสมนานกว่า 1 ปี จนเกษตรกรหลายรายต้องทิ้งอาชีพไปเพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียน” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมฯ ประกาศราคาแนะนำสุกรหน้าฟาร์ม เป็นประจำทุกๆ วันพระ ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพออยู่ได้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา มีการปรับราคาขึ้น 4 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70-75 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้จริงเพียง 65 บาทเท่านั้นขณะที่ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรตามประกาศของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คือ 78-80 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจึงยังอยู่ในภาวะขาดทุนสูง

ราคาหมูหน้าฟาร์มดังกล่าว จะทำให้ราคาขายปลีกชิ้นส่วนต่างๆ ต่อกิโลกรัม เช่น หมูเนื้อแดง ไม่ควรเกิน 150บาท หมูสามชั้นและหมูสันนอก 170-180 บาท หมูสันในประมาณ 180 บาท ส่วนสะโพกและหัวไหล่เฉลี่ย 115-125บาท อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกยังมีระบบการค้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคอีสาน จะขายหมูตรงจากฟาร์มให้กับเขียงหมู ราคาเนื้อหมูอาจต่ำกว่าบางพื้นที่ ที่เขียงหมูต้องซื้อผ่านโบรกเกอร์

นายสิทธิพันธ์ ย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลราคาและระบบการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคและผู้ค้า ขณะเดียวกันต้องดูแลเกษตรกรให้ได้รับราคาที่เหมาะสมด้วย หากภาคการผลิตอยู่ในภาวะที่ขาดทุนต่อเนื่องและถูกกดราคา ผู้เลี้ยงก็ไปไม่รอด จึงควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานสร้างสมดุลราคา และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยมีเนื้อหมูบริโภคโดยไม่ขาดแคลนและในราคาสมเหตุผล

Written By
More from pp
Pure (เพรียว) ขานรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เปิดรับบริการเพื่อลดระยะเวลารอรับบริการ ด้วยกลไกร้านขายยา
Pure (เพรียว) ศูนย์รวมเวชภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ภายใต้การดำเนินธุรกิจในกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี นำโดย นางสุวรรณี ภู่นภานนท์   รองประธานฝ่ายธุรกิจกลุ่มกาแฟและร้านขายยาเพรียว บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี ตอกย้ำนโยบาย “ร้านยาคนไทย...
Read More
0 replies on “ผู้เลี้ยงหมูวอนผู้บริโภคเข้าใจ ราคาตามกลไกตลาด ย้ำราคายังต่ำกว่าต้นทุนผลิต”