เปลว สีเงิน
เรื่องนี้ “ต้องขยาย”
คือเรื่องที่ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แผล็บๆ นักโทษไว้วานซืนว่า
“ทักษิณเคยชำระหนี้ IMF ในยุควิกฤตต้มยำกุ้งได้ก่อนเวลา ซึ่งถือเป็นผลงานที่จับต้องได้
ประสบการณ์เหล่านี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องเรียนรู้และนำมาปรับใช้”
ประเด็น “ชำระหนี้ IMF” แฟนๆ บอกรู้แล้ว “ชวนเช็ดไว้ให้ ทักษิณมาเลียกิน”
ฉะนั้น ก็ไปถึง “ต้มยำกุ้ง” สมัย “พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ” เป็นนายกฯ เมื่อปี พศ.๒๕๔๐ ที่ต้อง “ลดค่าเงินบาท” พินาศทั้งประเทศกันเลย
ขณะนั้น “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เป็นรองนายกฯ
นายทนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีคลัง, นายโภคิน พลกุล เป็นรมต.สำนักนายกฯ
อะไรคือ “ผลงานจับต้องได้” ของทักษิณ ตามที่นายสุริยะอวย ก็มาดูกัน ….
“นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” สส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านขณะนั้น อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตในสภา
โดยตั้งข้อสงสัยถึงวันประชุม “ลดค่าเงินบาท” ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ ว่า
“พล.อ.ชวลิตได้ให้บุคคลอื่น คือ “นายโภคิน พลกุล” เข้าร่วมประชุมด้วย ถือเป็นการไม่เหมาะสม
เนื่องจากนายโภคิน มีตำแหน่งเป็นรมต.สำนักนายกฯ ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบค่าเงินบาท
สงสัยนายโภคินนำความลับในที่ประชุมไปบอก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และหาประโยชน์กับการลดค่าเงินบาท”
โภคินฟ้องกำนันสุเทพ เรียกค่าเสียหาย ๔,๐๐๐ ล้านบาท สู้คดีกันนาน ๑๑ ปี
“จำเลย-กำนันสุเทพ” แพ้ ในศาลชั้นต้น ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องกำนันสุเทพ
“โจทก์-นายโภคิน” ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว พิพากษาอย่างไร โปรดอ่าน
………………..
โจทก์เบิกความว่าคำอภิปรายจำเลยที่ ๑ พาดพิงโจทก์ว่า โจทก์ทราบว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในวันที่ ๒๙ มิ.ย.๔๐
โจทก์นำข้อมูลไปบอกดอกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ดอกเตอร์ทักษิณอาศัยข้อมูลที่ได้ทราบจากโจทก์ไปทำการซื้อขายเงินตราในระยะเวลา ๒ วัน
ได้กำไร ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทำให้ประชาชนน้ำตาไหล และพรรคพวกของโจทก์ได้ประโยชน์ เป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมจรรยา
โดยสรุป จำเลยที่ ๑ กล่าวว่าโจทก์ร่วมกันหาประโยชน์กับดอกเตอร์ทักษิณ เกี่ยวกับข้อมูลที่จะเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ทำให้บ้านเมืองเสียหาย
ต่อมาหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงข่าวและข้อความว่า โจทก์ทำกำไรเรื่องค่าเงินบาท
ซึ่งข้อความที่จำเลยอภิปรายนั้น เป็นความเท็จ
โจทก์ไม่ทราบในวันที่ ๒๙ มิ.ย.๔๐ จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท
โจทก์ไม่เคยติดต่อกับพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยร่วมมือกับพ.ต.ท.ทักษิณและบุคคลอื่นใดแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
นายสุเทพ จำเลยที่ ๑ นำสืบต่อสู้ว่า
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิต จำเลยที่ ๑ ได้อภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาท
โดยก่อนวันที่อภิปราย ได้มีสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ทำนองที่ว่า ความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท รั่วไหลไปสู่นักธุรกิจก่อนแล้ว
พลเอกชวลิต ยืนยันว่า เรื่องนี้ได้ทำเป็นความลับ มีผู้รู้เพียง ๓ คนเท่านั้น
คือ พลเอกชวลิต, นายทนง พิทยะ ซึ่งขณะนั้นเป็นรมว.กระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เหตุที่จำเลยอภิปราย เนื่องจากได้รับทราบข้อมูล จากนายภูษณะ ปรีมาโนช และนายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ซึ่งเป็นเพื่อนของโจทก์
ทั้งได้รับทราบจากนายเริงชัยว่าในวันที่ ๒๙ มิ.ย.๔๐ ไม่ได้มีบุคคลเพียง ๓ คนดังกล่าว แต่โจทก์ (นายโภคิน) ได้ร่วมประชุมด้วย
ซึ่งในการอภิปรายของจำเลย ไม่เคยอภิปรายยืนยันว่าโจทก์ทุจริต
แต่อภิปรายโดยตั้งข้อสงสัยในพฤติการณ์ของโจทก์ว่า
โจทก์จะนำความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทไปบอก พ.ต.ท.ทักษิณ
ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามหน้าที่ของส.ส. และเป็นการติชมโดยสุจริต
ส่วนการเบิกความของโจทก์ (โภคิน) ยืนยันว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจะเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท โจทก์ไม่เคยบอกพ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท
โจทก์ไม่เคยร่วมมือกับพ.ต.ท.ทักษิณหรือบุคคลอื่นใดในการแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท การอภิปรายของจำเลยเป็นเท็จทั้งหมดนั้น
ในการนำสืบพยาน กลับได้ความจาก นายเริงชัย มะระกานนท์ พยานโจทก์เองว่า
เมื่อวันที่ ๒๙ มิ.ย.๔๐ นายเริงชัย กับนายทนง ได้เข้าพบพลเอกชวลิตที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท
โจทก์ ซึ่งเป็นรมต.สำนักนายกฯ นั่งอยู่ด้วย
นายทนง พูดขึ้นว่า ที่มาพบก็เนื่องจากจะปรึกษาหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท
พยาน (นายเริงชัย) จึงพูดขึ้นว่า เรื่องนี้ จะนำมาพูดในขณะนี้ สมควรหรือไม่ เนื่องจากมีโจทก์ (โภคิน) อยู่ด้วย
นายกรัฐมนตรี ก็พูดขึ้นว่า ไม่เป็นไร ให้โจทก์อยู่ด้วยได้และรับทราบได้
นอกจากนี้ นายทนง พยานโจทก์ อีกปากหนึ่ง ก็ให้การว่าได้เข้าพบนายกฯ พร้อมกับนายเริงชัย และโจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าว แตกต่างกับคำเบิกความของโจทก์โดยสิ้นเชิง
ศาลฟังโจทก์และจำเลยนำสืบต่อสู้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ ๒๙ มิ.ย.๔๐ ขณะที่พลเอกชวลิต นายทนง และนายเริงชัย ร่วมประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ได้ร่วมประชุมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ นายเริงชัย ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๑ ที่ถามค้านว่า ตามประเพณีปฏิบัติ เกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท จะรู้กันเพียง ๓ คน เท่านั้น
คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รมว.กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี
เหตุที่เป็นความลับ เนื่องจากหากบุคคลภายนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องล่วงรู้ จะนำไปหาประโยชน์โดยแสวงหากำไร
พยานจึงท้วงติงนายกฯ ว่า ควรจะพูดเรื่องลดค่าเงินบาทในขณะนั้นหรือไม่
เพราะมีโจทก์อยู่ด้วย เนื่องจากโจทก์ ไม่เกี่ยวข้อง
ดังนี้ จึงเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ อภิปรายในสภาฯ ว่า โจทก์ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และไม่สมควรจะไปนั่งอยู่ด้วยในการประชุมตัดสินใจของนายกฯ, รัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะให้ค่าเงินลอยตัว นั้น
ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จ หรือฝ่าฝืนต่อความจริง
คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ต่างหาก ที่ฝ่าฝืนต่อความจริง
ส่วนประเด็นที่จำเลยที่ ๑ อภิปรายต่อว่า
จำเลยสงสัยว่าโจทก์เป็นคนบอกความลับเรื่องนี้แก่ดอกเตอร์ทักษิณนั้น ศาลฎีกา โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า
จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นส.ส.และมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพลเอกชวลิตได้ตาม รธน. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๔๘ ถึงมาตรา ๑๕๐
ส่วนโจทก์ ซึ่งเป็นรมต.สำนักนายกฯในรัฐบาลพลเอกชวลิต เป็นบุคคลที่ต้องรับการตรวจสอบจาก ส.ส.
การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิต เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
และการกระทำของพลเอกชวลิต ที่ยอมให้โจทก์ร่วมรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อันเป็นเรื่องความลับที่สุด
ซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์และส่วนได้เสียของประเทศและประชาชนจำนวนมาก เมื่อวันที่ ๒๙ มิ.ย.๔๐
ก่อนวันประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เมื่อวันที่ ๒ ก.ค.๔๐ ถึง ๓ วัน
ทั้งๆ ที่โจทก์ ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือควรรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและการตัดสินใจในครั้งนี้เลย
และหลังจากนั้น ยังยืนยันในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า มีผู้รู้ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เพียง ๓ คน เท่านั้น
คือ ตัวพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายทนง พิทยะ และนายเริงชัย มะระกานนท์ เป็นข้อพิรุธสำคัญ
นอกจากศาลฎีกาจะมีความเห็นต่อข้อพิรุธข้างต้นแล้ว มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยังมีเห็นว่า….
ประกอบกับพันตำรวจโททักษิณ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการค้ารายใหญ่ ไม่ได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าใหญ่รายอื่น ที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศที่ต่างประสบความเสียหายอย่างรุนแรง
ดังนี้ ย่อมเป็นมูลเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตั้งข้อสงสัยโจทก์ได้
มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยังเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยว่า
โจทก์เป็นผู้นำเอาความลับที่สุดดังกล่าวที่รู้มาโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่ควรจะรู้ไปบอกพันตำรวจโททักษิณ ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง
การตั้งข้อสงสัยของจำเลยที่ ๑ จึงมีมูลเหตุเพียงพอที่จะให้ตั้งข้อสงสัยเช่นนั้นได้
ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยอย่างเลื่อนลอย อันจะทำให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่ ๑ ที่จงใจฉวยโอกาสในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ฝ่ายค้านให้ร้ายแก่โจทก์ โดยปราศจากเหตุอันสมควร
การอภิปรายของจำเลยที่ ๑ ที่พาดพิงถึงโจทก์นั้น ยังอยู่ในขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของพลเอกชวลิต
เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อันเป็นวิสัยที่พึงกระทำ
คำอภิปรายของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วยในผล
ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป
………………………
ครับ ศาลฎีกา เห็นพ้องตามศาลอุทธรณ์ คือยกฟ้องกำนันสุเทพ!
นี่ไง..ผลงานจับต้องได้ของทักษิณในยุค “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่นายสุริยะชื่นชมว่า พวกเขาควรเรียนรู้เพื่อนำปรับใช้
“ต้มยำกุ้ง” เจ๊งกันทั้งประเทศ
แต่ธุรกิจทักษิณคนเดียว กลับรวยฉิบหาย!
เปลว สีเงิน
๒๘ มีนาคม ๒๕๖๗