“เศรษฐา” หารือ นายกฯ เยอรมนี กระชับความร่วมมือไทย-เยอรมนีสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายโอลาฟ ชอล์ซ (H.E. Mr. Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศเต็มรูปแบบ จากนั้น ทั้งสองฝ่ายร่วมการหารือ four eyes การแถลงข่าวร่วม และการหารือระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกฯ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทยและเยอรมนีก้าวเข้าสู่บทใหม่ ในฐานะที่ไทยเป็นหุ้นส่วนที่เป็นประชาธิปไตย มั่นคง คาดเดาได้ และเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยได้กล่าวขอบคุณเยอรมนีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งการมาเยือนครั้งนี้เพื่อทำให้ความร่วมมือที่ได้หารือกับประธานาธิบดีเป็นรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสนี้ด้วย

นายกฯ ได้เสนอให้ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะมีการหารือรายละเอียดความร่วมมือต่อไปภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-เยอรมนี โดยไทยหวังที่จะเพิ่มพูนและกระชับความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน การเปลี่ยนผ่านสีเขียว อุตสาหกรรมยานยนต์ ความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายกฯ มีโอกาสได้พบกับบริษัทสำคัญๆ ในเยอรมนี ซึ่งไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การลงทุนในประเทศไทยดำเนินไปอย่างราบรื่น พร้อมย้ำว่า ไทยกลับมาเดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว (back for business) ด้วยรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มุ่งมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และคุณค่าของประชาธิปไตย โดยยินดีเปิดรับภาคธุรกิจ SMEs ของเยอรมนีเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ โดยโอกาสนี้ นายกฯ ยังได้กล่าวขอรับการสนับสนุนจากเยอรมนีในการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนทวิภาคีต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนียินดี

รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ เกษตรกรรมและอาหาร การบิน การขนส่งของภูมิภาค และการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จึงอยากเชิญชวนเยอรมนีเข้ามาร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงทางรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ และโครงการ Landbridge รวมทั้งยินดีต้อนรับการลงทุนของเยอรมันเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งในภูมิภาคภายในทศวรรษนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่สำหรับระบบนิเวศยานยนต์ที่แข็งแกร่งของไทยยังจะเปิดโอกาสให้บริษัทยานยนต์ของเยอรมัน สำหรับทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยนายกฯ หวังว่าจะมีบริษัทยานยนต์อื่นๆ ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยบริษัท Mercedes-Benz และ BMW ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้ว

นอกจากนี้ ไทยยังมุ่งเน้นสู่การเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยมีสิทธิประโยชน์ในการลงทุนด้านการผลิต EV ในไทย โดยเห็นว่าการเปลี่ยนไปใช้ EV เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2568 โดยนายกฯ ยินดีที่เยอรมนีสนใจในการเปลี่ยนผ่านด้านไฟฟ้าของไทย และหวังที่จะมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนความร่วมมือทางเทคนิคให้มากขึ้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านการเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการเกษตร และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย

นายกฯ หวังว่า ภาคเอกชนของเยอรมนีในประเทศไทยอาจพิจารณาเสนอโครงการฝึกงาน/ฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่นักเรียนอาชีวศึกษาไทย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้กับบริษัทเยอรมันในประเทศไทย โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือในด้านแรงงานหากเยอรมนีต้องการ

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดจากสหภาพยุโรปและใกล้ระดับก่อนโควิด นายกฯ เห็นว่าไทยและเยอรมนีควรร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่ง ไทยได้เคยเสนอเรื่องการยกเว้นวีซ่าเชงเกนสำหรับหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดาของไทยกับสหภาพยุโรปแล้ว จึงขอรับการสนับสนุนจากเยอรมนีด้วย ทั้งนี้ หนังสือเดินทางไทยมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากผลิตโดยบริษัทฝรั่งเศส เยอรมนีและกลุ่มประเทศเชงเกนจะได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงและผู้มาเยือนธุรกิจระยะสั้นจากประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น

Written By
More from pp
0 replies on ““เศรษฐา” หารือ นายกฯ เยอรมนี กระชับความร่วมมือไทย-เยอรมนีสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)”