เปลว สีเงิน
เมื่อวาน อ่านข่าวพบ
“นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน นั่งตำแหน่ง “ประธานบอร์ดปตท.” อีกตำแหน่ง
ก็พอดีกับเรื่องที่ผมจะคุยวันนี้เลย
ยิ่งท่านปลัดฯบอกว่า….
“ปตท.เป็นทั้งรัฐและบริษัทมหาชนที่มีผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย “หลายภาคส่วน” เข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่ในส่วนนี้ ผมจะสร้างความสมดุล เพื่อให้ปตท.สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชน….ฯลฯ….”
“ตรงประเด็น” ผมเลย ที่ท่านว่า
“ปตท.สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชน” และท่านปลัดฯในฐานะประธานบอร์ดปตท. “จะเสริมสร้างตรงนี้” นั่นแหละ
บอกตรงๆ “จี๊ดใจมาก”!
คือผมอ่านข่าวเกี่ยวกับงาน “PTT Group Innovation for Future Society 2023 จุดพลังสร้างอนาคต ขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน”
ที่ CEO ปตท. “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” พร้อมผู้บริหารบริษัทเครือปตท.จัดที่สำนักงานใหญ่ ปตท.๕-๖ วันที่ผ่านมา
ผมนั่งนึกๆ ในคำว่า “ความมั่นคง” เมืองไทยมีอะไรบ้าง ที่มั่นคงแล้ว และที่ยังง่อนแง่น?
ด้าน “ความมั่นคงทางพลังงานประเทศ”
พูดได้เต็มปาก “อยู่มือ” ปตท.เป็นที่วางใจได้แล้ว
ด้าน “ความมั่นคงภายใน” เท่าที่ประเมิน
“กองทัพ” ปรับตัวด้าน “ทัศนคติ-มุมมอง-ท่าที” ต่อสังคมใหม่ ต่อสังคมโลกที่กำลังลอกคราบ ออกมาในภาพ “สงบ-สยบความเคลื่อนไหว” ได้สุขุม-นุ่มลึก
วางใจได้ บริบทสังคมชาติจะย้วยไปตามยุคสมัย ก็ย้วยกันไป แต่ย้วยนั้น จะอยู่ในกรอบแกน “ชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์” หนักแน่น-มั่นคง วางใจได้
“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-การลงทุน” ต้องบอกว่า “ฮวงจุ้ยประเทศด้านทำเลที่ตั้งดีมาก”
บวกกับ ๘-๙ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลลุงตู่วางรากฐาน ทั้งด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมเพื่อการลงทุนสู่อนาคต, ด้านขนส่ง-คมนาคมพื้นฐาน ทั้งบก-เรือ-ราง-อากาศ, ทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที,และด้านวิจัย-พัฒนา สู่นวัตกรรมแขนงต่างๆ
ดังนั้น อุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “เพื่อการส่งออก” ด้วยต้นทุนประเทศและการวางรากฐานใหม่เป็นอนาคตประเทศ
รัฐบาลไม่ต้องไปจุ้นภาคเอกชนเขามาก
ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง-เป็นหน่วยส่งเสริม-คุ้มกัน คอยช่วยทะลวงท่อระบบราชการและการติดต่อ เป็นการขจัดอุปสรรคให้เขา
แค่นั้นพอ…..
เมื่อตลาดโลกเดิน ส่งออกไทย บินได้เอง ด้วย “อัจฉริยะพ่อค้าไทย”
ที่ยังไม่มั่นคง ก็น่าจะเป็น “ความมั่นคงทางทรัพยกรบุคคลทางการศึกษา”
สุดท้าย คือ “ความมั่นคงทางจิตสำนึกนักการเมืองต่อการเป็นนักการเมืองที่ดี”
และสุดท้ายของสุดท้าย ที่มีความสำคัญกว่าทุกข้อที่กล่าวมา คือ
เมืองไทย เป็นเมืองการเกษตร จนได้ชื่อว่าไทยคือครัวโลก “มีประชากรอยู่ในภาคเกษตร ทั้งเกษตรครัวเรือนและเกษตรเพื่อการส่งออก” มากที่สุด”
แต่ปรากฎว่า “ชีวิต-ฐานะ-ความเป็นอยู่” ของคนภาคเกษตร ลำบาก-ยากจน หนี้สินรุงรัง เรียกว่า “ไม่มีความมั่นคง” เลย!
ที่พูดมาทั้งหมด ตรงนี้แหละ คือประเด็น
ตราบใดที่เรา ไม่สามารถช่วยเกษตรกร “ชาวไร่-ชาวนา” ให้หลุดพ้นวงจรแห่งคำว่า “ยิ่งทำ-ยิ่งจน” … “ยิ่งทำ-ยิ่งมีหนี้สิน” ไปได้
ก็อย่าหมายเลยว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” ได้
และจะไม่สามารถใช้คำว่า “ผลสำเร็จ” กับงานเพื่อชาติชิ้นไหนๆ ได้เลย
ถ้า “องค์กรทั้งประเทศ” ไม่ช่วยกันนำความรู้ทางวิทยาการใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆและพลังศรัทธาเพื่ออนาคตชาติไปช่วยกัน “วิจัย-พัฒนา”
เป็นพี่เลี้ยง “ประคับ-ประคอง” ให้พี่น้องภาคเกษตร
โดยเฉพาะ “ชาวนา” ๔-๕ ล้านคนในระบบ ได้เข้าสู่ภาคเกษตร มิติ “นวัตกรรม” แล้วละก็
ประเทศไทย แม้เจริญ พัฒนา ก้าวหน้า ไปถึงไหน แต่ถ้ายังปล่อยให้ภาคเกษตรซึ่งเป็น “แกนกระดูก” ชาติ ผุกร่อน ด้วยหนี้สินและความยกจนเกินวิสัยอยู่อย่างนี้
มันน่าละอายในความเจริญ มากกว่าความภูมิใจ!
ผมดูจากงานที่ CEO ปตท. “อรรถพล ฤษ์พิบูล” จัดนั้นแล้ว จับหัวใจงานได้ว่า อยู่ตรง….
“ช่วยเหลือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน” โดยนำนวัตกรรม องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญ แต่ละบริษัทเครือปตท.
ไปช่วยกันพัฒนา “ชุมชนเครือข่าย ๔๕ ชุมชน ใน ๒๙ จังหวัดทั่วประเทศ” นั่นแหละ
พัฒนาด้วยวิธีไหน?
ผมจะหยิบเฉพาะด้านการเกษตรมาคุยเท่านั้น ว่าปตท.และบริษัทในเครือเขาทำกันยังไง?
ซึ่งผมเห็นแล้ว อยาก “มัดมือชก “ให้ปตท. “ช่วยสังคมชาติ” ให้เป็น “งานเอก” อีกซักงานเถอะ คือด้าน “เกษตรกรรม”
ด้วยการใช้นวัตกรรม เป็น “โมเดล” สร้างแรงจูงใจ “ชาวไร่-ชาวนา” เมื่อเขาเห็นผลจากตรงนี้แล้ว จะได้มีแรง “ฮึด”
เข้าสู่ระบบ Smart Farming ตามแนวทางที่รัฐบาล (ลุงตู่อีกนั่นแหละ) วางไว้
อย่างที่ปตท.นำมาโชว์ นั่นใช่เลย
คือเปลี่ยนการทำเกษตรที่ฝากอนาคตไว้กับฟ้าดินบันดาลไปเป็น “เกษตรแบบใหม่”
ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อและเก็บข้อมูลเข้าระบบ Iot
เพื่อการบริหารงานเกษตร ตรวจสภาพดิน ว่า “เหมาะ-ไม่เหมาะ” กับพืชชนิดไหน ไม่ใช่ปลูกไปเรื่อย ผลคือสูญเปล่า
รวมทั้งตรวจสภาพ ดิน-ฟ้า-อากาศ-น้ำ แต่ละช่วงจะเป็นยังไง
ทั้งการใช้โดรน ใส่ปุ๋ย, พ่นยา ทั้งคำนวนการลงทุนและผลผลิตจะคุ้มขนาดไหน ทั้งการตลาด ว่าผลิตแล้ว มีตลาดรองรับแน่หรือไม่?
เหล่านี้……
ที่ทุกวันนี้ชาวไร่-ชาวนา “ยิ่งทำ-ยิ่งจน” ผลผลิตไม่คุ้ม ต้นทุนสูญเปล่า เป็นหนี้-เป็นสิน ก็เพราะการทำเกษตรแบบ “จุดธูปบน” ไปแต่ละปี นั่นแหละ
แบบนั้น จะหมดไป ……..
ถ้ามี “ตัวนำ” ชักชวนชาวนาเข้าโครงการนำร่อง “ทำเกษตรแบบใหม่” โดยรวบรวมที่นาซัก ๑๐,๐๐๐ ไร่
ทำนาระบบ Smart Farming เป็นโมเดล
“งานวิจัย-พัฒนา” ด้านเทคโนโลยี สู่นวัตกรรม นั้น
ปตท.เป็น ๑ ในองค์กรนำ “เป็นหน้า-เป็นตา” สังคมไทย สู่ศตวรรษที่ ๒๑ อยู่แล้ว
ทั้งด้าน Smart Farming “ยกระดับการเกษตรด้วยนวัตกรรมให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณที่สูงขึ้น”
ทั้งด้าน Smart Marketing “การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยการแปรรูปและสร้างมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้แก่ชุมชน”
ปตท.ในยุค CEO อรรถพล
ทั้งบุกเบิก ทั้งต่อยอดอุตสาหกรรมพลังงาน ไปสู่ความยั่งยืนด้านนวัตกรรมแขนงต่างๆ ด้วยงาน “วิจัย-พัฒนา” เป็นหน้า-เป็นตา เป็นความหวังประเทศ “หลายแขนง”
พอดีฟังท่าน “ปลัดฯ ประเสริฐ” ประหนึ่งแสดงวิสัยทัศน์ว่า
“จะให้ปตท.ดูแลช่วยเหลือประชาชน”
ถ้าท่านปลัด “จริงใจ-จริงจัง” ต่อคำพูดของท่าน ผมว่า “ลงตัว” กับแนวปฎิบัติเพื่อสังคมของปตท.อย่างที่ กลุ่มปตท.โดย CEO อรรถพล ทำต่อเนื่องอยู่เวลานี้
ผมอยากให้ปตท.ช่วยชาวนาให้ไม่ต้องพึ่งยาระงับอาการปวดยี่ห้อ “เงินอุดหนุนชาวนา” จากรัฐบาลแต่ละปี
ซึ่งนั่น ไม่ใช่การรักษาที่ “ต้นเหตุโรค”
อยากให้ปตท.นำระบบ Smart Farming, Smart Marketing
จะประยุกต์ระบบ Community-Based Tourism ส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยชุมชนตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เข้าไปด้วยก็ได้
นี่แหละ การรักษาโรค “ยิ่งทำ-ยิ่งจน” ที่ต้นเหตุ หายจากโรคเด็ดขาด โดยไม่ต้องพึ่งยาแก้ปปวดประจำปี
เพราะผมเชื่อ ถ้าปตท.ทำ “Smart Farming” ต้นแบบให้เกิดซัก ๑๐,๐๐๐ ไร่ เต็มรูปแบบ
ไม่เพียงชาวนา ผมว่าทั้งเกษตรกรทั้งชาวบ้าน จะทั้งเห่อ-ทั้งแห่ ไปดู จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
งานนี้ ถ้าจะว่าเป็น “งานใหญ่เพื่อชาติ” ก็ไม่ผิด
ลำพังปตท.ก็ทำได้
แต่ทางที่ดี ปตท.ควรเสนอแผนให้ปลัดฯ ประเสริฐ ในฐานะ “ประธานบอร์ด” เห็นชอบ
เพื่อเสนอรัฐมนตรีพลังงาน ขอความร่วมมือ กระทรวงมหาดไทย, เกษตร, พาณิชย์ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมโครงการ
โดยเฉพาะ “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” (NIA) ซึ่งขาดไม่ได้ เพราะมุ่งด้านนี้โดยตรงอยู่แล้ว
อีกทั้ง “โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม” และอินเทอร์เน็ต ที่ใช้สำหรับ Smart Farming นั้น ยังต้องพึ่งพาของรัฐ
คนไทย “ทำตาม” เก่งครับ
ท่านปลัดฯ พลังงาน ประสานระบบรัฐร่วมกับปตท.สร้าง “สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง” เป็นต้นแบบ “นานวัตกรรม” ซักแห่ง
เมื่อเห็นผล เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ก็จะทำตาม แล้วภาครัฐ ก็ใช้งบประมาณ “สานต่อ” ก็แล้วกัน
จาก หมื่นไร่ เป็นแสนไร่ จนนาไทย เป็นนา “สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง” ทั้งประเทศ
ทีนี้แหละ ชาวนาไทย จะได้ชื่อว่า “รวยทน”
หลังจาก “จนดักดาน” มา ๒๐๐ กว่าปี!
เปลว สีเงิน
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖