นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นญัตติเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริมพัฒนา และแก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืนทั้งระบบ และศึกษาแนวทางการมีกฎหมายว่าด้วยทุเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลายพรรคการเมือง ที่เห็นถึงความสำคัญของทุเรียน
ด้วยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียน นำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นทุกปีในปี พ.ศ. 2565 มีมูลค่าส่งออก 125,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นพืชเกษตรที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับสาม รองจากยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอื่น ๆ รวม 43 จังหวัด ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2566 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 1,340,000 ไร่
มีทั้งที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย และที่ปลูกโดยนักลงทุนเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียน ทำให้ต้องใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าเพื่อการเกษตร แรงงาน ภาคเกษตร การขนส่งผลผลิตทุเรียน อุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในปริมาณที่สูงขึ้น หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร ถ้าผลผลิตทุเรียนล้นตลาด และคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ราคาอาจจะตกต่ำ หากใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ปัจจุบันภาครัฐมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน จึงมักใช้การขอความร่วมมือ การออกระเบียบหรือคำสั่งในระดับจังหวัดโดยอิงมาตรฐานทางวิชาการ ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนระดับพระราชบัญญัติภาคบังคับใช้เฉพาะ ต้องอาศัยกฎหมายทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 47 ทำให้มีข้อจำกัดในการลงโทษผู้นำทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด หากมีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนเป็นการเฉพาะ จะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากภาครัฐไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนโดยเฉพาะมาบังคับใช้ เพื่อการส่งเสริม การพัฒนา การแก้ปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งระบบ ครบวงจรแล้ว ปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีเจ้าภาพหลัก เรื่องทุเรียน มีผู้รับผิดชอบอยู่หลายกรม หลายกระทรวง ขาดการบูรณาการกัน จึงขาดเอกภาพ ภาครัฐสมควร หยิบยกเรื่องทุเรียนเป็นวาระแห่งชาติ ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้ประเทศ เป็นอันดับต้น ๆ และประเทศไทยมีจุดแข็งหลายอย่าง เหนือประเทศคู่แข่ง แต่ก็วางใจไม่ได้ ถ้าปล่อยให้เกษตรกร ปลูกตามยถากรรม โดยที่ภาครัฐไม่เข้ามาบริหารจัดการอย่างจริงจัง
ประกอบกับเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายทุเรียน เมื่อเทียบกับพืชเกษตรอื่น เช่น ยางพารา ปัจจุบันจึงยังไม่มีกองทุนทุเรียนไทย ที่หักเงินจากการส่งออกทุเรียน เข้ากองทุน ขณะที่ยางพารามีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมื่อประสบปัญหา กรณีต้นทุเรียนหมดอายุต้องปลูกทดแทน
หรือกรณีได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ จะไม่มีเงินกองทุนมาช่วยเหลือ เช่น กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ที่มีกฎหมายเก็บเงินสงเคราะห์ยาง (Cess) หากมีกองทุนทุเรียนไทยก็จะสามารถ ช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน และมีเงินทุนมาศึกษาวิจัย รวมทั้งพัฒนาเกี่ยวกับทุเรียนได้
โดยที่ทุเรียนเป็นสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศ ภาครัฐสมควรให้ความสำคัญในเรื่อง การส่งเสริม พัฒนา แก้ปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งระบบ ครบวงจร เพื่อให้มีเสถียรภาพในเรื่องราคา ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนทุเรียน พ่อค้าทุเรียน เจ้าของโรงงานแปรรูปทุเรียน ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม รวมถึงควรมีการศึกษาแนวทางเพื่อนำไปสู่การมีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนขึ้นมา โดยเฉพาะ โดยมีตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ตัวแทนพ่อค้าทุเรียน และตัวแทนโรงงานแปรรูปทุเรียน
ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเข้ามาเป็นกรรมการร่วมกับทางราชการในทุกขั้นตอน ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานระดับกรมหรือหน่วยงานเช่นการทุเรียนแห่งประเทศไทย ขึ้นมารับผิดชอบเรื่องทุเรียนเป็นการเฉพาะ และควรจัดให้มีกองทุนทุเรียนไทย ที่หักจากเงินรายได้ส่งออกทุเรียน เช่นกรณีเงินสงเคราะห์ยาง (เงิน Cess) เพื่อนำเงินกองทุนมาสงเคราะห์เกษตรกรชาวสวนทุเรียน จัดสวัสดิการ และศึกษาวิจัยพัฒนาให้ทุเรียนไทยมีคุณภาพดีเหนือกว่า ทุเรียนของประเทศคู่แข่ง
เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย มีการศึกษาวิจัยเพื่อเปิดตลาดทุเรียนใหม่ ๆ รองรับผลผลิตทุเรียนที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต มีการศึกษาวิจัยเพื่อลงทุนระบบโลจิสติกส์ให้สามารถขนส่งทุเรียนคุณภาพออกจากแหล่งผลิตไปสู่ผู้บริโภคได้ทันเวลา มีการศึกษาวิจัย เพื่อลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปทุเรียน เพื่อดูดซับผลผลิตส่วนเกินออกจากแหล่งผลิต ไม่ให้ทุเรียนผลสดคั่งค้าง ที่แหล่งผลิต หรือที่ตลาดท้องถิ่น เพื่อไม่ส่งผลให้ทุเรียนราคาตกต่ำ เรียกว่า ศึกษาวิจัย เพื่อส่งเสริม พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ คือ สายพันธุ์เกษตรกรผู้ผลิต กลางน้ำคือพ่อค้า การขนส่ง ปลายน้ำคือผู้บริโภค ทั้งภายใน ภายนอกประเทศให้เกิดความยั่งยืน ทั้งระบบ ครบวงจร
นอกจากนั้น ภาครัฐควรมีการจัดระเบียบพื้นที่ปลูก หรือโซนนิ่ง เพื่อการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม ภาครัฐจะได้ลงทุนจัดหาแหล่งน้ำ ระบบชลประทาน และจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น สนับสนุนแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และควรขึ้นทะเบียนผู้ปลูกทุเรียน และกำหนดมาตรฐานการใช้สารเคมี ทั้งปุยและยาปราบศัตรูพืช
นอกจากนั้นควรขึ้นทะเบียนผู้ตัดทุเรียน ผู้ค้าทุเรียน ผู้รวบรวมผลผลิตทุเรียน และผู้ส่งออกทุเรียน เพื่อควบคุมคุณภาพ ไม่ให้มีการตัดทุเรียนอ่อน ไม่ให้มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ทั้งสารเคมี และชีวภาพ หากควบคุมคุณภาพได้ทุกขั้นตอน จะสามารถป้องกันราคาทุเรียนตกต่ำได้ หากควบคุมคุณภาพ ไม่ได้ทุกขั้นตอน จะกระทบให้ราคาทุเรียนตกต่ำเป็นโดมิโน
ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่าจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ในสมัยประชุมหน้า