นายสายันต์ ตันพานิช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผอ.สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมบุคลากร วว. ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 (TRIUP Fair 2023)
จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แนวคิด “Journey to Impact : เส้นทางจากงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ระหว่างวันที่ 18 -19 กรกฎาคม 2566 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ 1-3 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ในการนี้ วว. ได้รับเกียรติจาก ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะประธานเปิดงานฯ พร้อมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธนิทรรศการด้วย
วว. ในฐานะหน่วยงานวิจัยของประเทศ เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในโซนห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ PILOT PLANT TRIJP และบริการ
โดยนำเสนอบริการ Scale-up Plant ด้านนวัตกรรมอาหาร นวัตกรรมเครื่องสำอาง/เวชสำอาง และโพรไบโอติก ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ศูนย์บริการนวัตกรรมเวชสำอางครบวงจร (ICOS) ศูนย์นวัตกรรมหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM 1 & ICPIM 2)
ด้วยศักยภาพโรงงานที่ได้มาตรฐานพร้อมให้บริการผู้ประกอบการ และกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการที่เชื่อมโยงกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ (Business Development Service) และรับบริการลูกค้าผ่านระบบ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/ ที่สามารถรับงานบริการผ่านช่องทาง online ครบ จบ ที่เดียว
นอกจากงานบริการด้านนวัตกรรมดังกล่าวแล้ว วว. ยังได้นำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาด้านการสนับสนุน Net Zero Emission นำโดย ดร.รุจิรา จิตรหวัง ผู้เชี่ยวชาญวิจัย และทีมวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. ได้แก่
1) การผลิตไบโอเมทานอลและก๊าซชีวภาพ มีกำลังการผลิต 5 ลิตร/วัน โดยไบโอเมทานอลที่ได้จากกระบวนการนี้ 1 กิโลกรัม มาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ 0.5 กิโลกรัม หากมีการนำเทคโนโลยีไปใช้จะก่อให้เกิดโรงงานเมทานอล ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
2) ต้นแบบการผลิตวัสดุดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากเถ้าโรงงานไฟฟ้าเพื่อรองรับสังคมคาร์บอน สามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าจากของเหลือทิ้งภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาวัสดุประเภทซีโอไลต์สำหรับนำไปประยุกต์ใช้งานประเภทต่างๆ
3) การปลูกไม้มีค่าและพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดโลกร้อน ส่งเสริมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ส่งเสริมการพัฒนาฐานเศรษฐกิจชีวภาพ
4) ต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร ช่วยลดการกองทิ้งขยะชุมชน ลดมลภาวะทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก PM 2.5 เกิดการยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบรองสองตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้
5) การพัฒนาเชื้อเพลิงแข็งคุณภาพสูงจากชีวมวลและขยะพลาสติกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product)