กรมการขนส่งทางบก เผยรายชื่อเพจมิจฉาชีพทำใบขับขี่ปลอมทางออนไลน์กว่า 100 เพจ สามารถตรวจสอบได้ที่คิวอาร์โค้ดของกรมการขนส่งทางบก เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อและอย่าโอนเงินโดยเด็ดขาด ย้ำหากพบการปลอมแปลงใบขับขี่หรือแอบอ้างอบรมต่ออายุใบขับขี่แทน จะดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนขั้นสูงสุดทุกราย
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก ขอเตือนประชาชนที่ต้องการทำธุรกรรมด้านใบขับขี่กับกรมการขนส่งทางบก หลังพบเพจเฟซบุ๊กปลอมรับทำและรับอบรมต่อใบขับขี่ปลอมเป็นจำนวนมาก
โดยพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพจะนำรูปตราสัญลักษณ์กรมการขนส่งทางบกมาใส่ในรูปโปรไฟล์ หรือนำรูปภาพของผู้ที่ได้รับใบขับขี่มาแอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยจะโฆษณาหลอกลวงว่าสามารถออกใบขับขี่โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่ง และมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 6,000 บาท
เมื่อผู้เสียหายโอนเงินไปแล้วจะเรียกร้องให้โอนเงินเพิ่มอีกและเงียบหาย ไม่สามารถตามคืนได้หรือจะได้รับใบขับขี่ปลอม รวมทั้ง ยังมีการแอบอ้างในการอบรมต่ออายุใบขับขี่แทน โดยกลุ่มมิจฉาชีพมีพฤติกรรมแอบอ้างว่าจะอบรมต่ออายุใบขับขี่แทนผู้เสียหายและจองคิวให้ผู้เสียหายเข้ามาถ่ายรูปทำใบขับขี่ ณ สำนักงานขนส่ง
พร้อมหลอกให้ผู้เสียหายส่งหน้าบัตรใบขับขี่และโอนเงินไปให้ หรือโฆษณาหลอกลวงว่า “ใบขับขี่หมดอายุ ไม่มีเวลาอบรม รับจองคิวพร้อมอบรมต่ออายุใบขับขี่ทุกชนิด เจ้าตัวต้องเข้าไปถ่ายรูปทำบัตรด้วยตนเองที่สำนักงานขนส่ง”
กรมการขนส่งทางบก ขอเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อหรือทำธุรกรรมกับเพจเหล่านี้เด็ดขาดจะทำให้สูญเสียทรัพย์สินและเอกสารส่วนบุคคล และเสี่ยงได้รับใบขับขี่ปลอม ซึ่งผู้หลงเชื่อจะมีความผิดฐานปลอมแปลงหรือใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท
และบุคคลที่แอบอ้างว่าสามารถอบรมต่ออายุใบขับขี่แทนได้ก็เข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดซึ่งจะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานปลอมแปลงหรือใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
นอกจากนี้ บุคคลที่จัดทำเพจเฟซบุ๊กปลอมรับทำและรับอบรมต่อใบขับขี่ปลอม ซึ่งถือเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า กรมการขนส่งทางบกได้ตรวจสอบเพจปลอมที่แอบอ้างรับทำใบขับขี่และติดตามดำเนินการทางกฎหมายในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสมายังกรมการขนส่งทางบก และทางกรมฯได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 52 ราย รวมถึงยังพบเพจปลอมมากกว่า 100 เพจ
โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3YvPwdb หรือ คิวอาร์โค้ด ตามแนบ ทั้งนี้หากประชาชนท่านใดพบเพจเฟซบุ๊กปลอมขอให้กดรายงานบัญชีหรือเพจเฟซบุ๊ก (report) หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมการขนส่งทางบกได้โดยตรง หรือโทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขอรับใบขับขี่ทุกชนิดมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ผู้ที่ต้องการขอรับใบขับขี่สามารถดำเนินการ ตั้งแต่การตรวจสอบเอกสาร การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย การอบรม การทดสอบข้อเขียน การทดสอบขับรถ ที่สำนักงานขนส่งหรือโรงเรียนสอนขับรถที่รับรองโดยกรมการขนส่งทางบก และการถ่ายรูปเพื่อออกใบอนุญาตขับรถต้องมาดำเนินการได้ที่สำนักงานขนส่งเท่านั้น
สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับใบขับขี่ใหม่สามารถจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ซึ่งสามารถเลือกสำนักงานขนส่ง วันและเวลาที่สะดวกได้ด้วยตนเอง ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎหมายกำหนด (รวมค่าคำขอ) ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 205 บาท ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 105 บาท
ในส่วนการต่ออายุใบขับขี่สามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า (walk in ) อัตราค่าธรรมเนียมในการต่ออายุใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล 505 บาท ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 255 บาท