2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นสหรัฐฯ คุมเข้มการใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ สรุปสาระสำคัญดังนี้
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชี้แจงประเด็นข้อมูลถุงมือยางลาเท็กซ์ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีความห่วงใยให้ความสำคัญกับประเด็นถุงมือยางของประเทศไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกและมีมูลค่าการส่งออกสูง
โดยวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานหลักต่าง ๆ ทำการประมวลข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องในทางวิชาการ
โดยในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้หารือกับนักวิชาการด้านการแพทย์ ประกอบด้วยหัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึง ผู้แทนสมาคมโรคภูมิแพ้แห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยถุงมือยางมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ซึ่งภาวะจากการแพ้ใช้ถุงมือยาง ทางศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีและสมาคมโรคภูมิแพ้ฯ ให้ข้อมูลว่า เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับบางรายที่มีอาการแพ้ ซึ่งปกติแล้วทางการแพทย์เรียกว่า พิษ จะเกิดขึ้นกับบางคนที่มีความไวต่ออาการมากกว่าปกติ
ส่วนภาวะจากการแพ้ใช้ถุงมือยางเกิดขึ้นในประชากรทั่วไปประมาณร้อยละ 3-5 ใน 100 ราย จะมีประมาณ 3-5 ราย ที่เมื่อใช้ถุงมือยางแล้วจะมีอาการแพ้เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงเป็นอาการแพ้เฉพาะที่ เช่น มีผื่น คัน เป็นต้น บางรายจะมีอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น มีตุ่ม พอง หรือทางระบบหายใจซึ่งจะพบน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ประชากรส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแพ้ถุงมือ และจะมีบางกลุ่มที่ต้องใช้ถุงมือจำนวนมากและใช้ถุงมือบ่อย ๆ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ และผู้ที่ใช้ถุงมือสัมผัสอาหาร เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้จะมีการแพ้มากกว่าประชากรจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางการแพทย์มีวิธีการดูแลรักษา
ปกติเมื่อพบผู้ป่วยมีอาการแพ้จะมียารักษา มียาทาและน้อยรายที่จะให้ยากิน หรือบางครั้งก็ให้ยาฉีด ซึ่งภาวะการแพ้จากการใช้ถุงมือยางเป็นเรื่องที่ทางเวชปฏิบัติทั่วไปดูแลเป็นประจำ ทั้งนี้ มีคำแนะนำหากมีผู้แพ้ถุงมือยางเกิดขึ้นขอให้หลีกเลี่ยงการใช้หรือการใช้ถุงมือชนิดอื่น ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ถุงมือยางเป็นของที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานง่าย มีความยืดหยุ่น และในประเทศไทยใช้ถุงมือที่ผลิตจากยางธรรมชาติจำนวนมาก ในภาควิชาการก็มีกระบวนการเทคโนโลยีที่จะทำให้ภาวะการแพ้ลดลง ในถุงมือยางที่มีอาการแพ้เกิดขึ้นจากมีสารโปรตีนอยู่ในถุงมือยาง น้ำยางธรรมชาติมีอยู่ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งมีกระบวนการผลิตสามารถนำโปรตีนต่าง ๆ เหล่านี้ ออกจากยางธรรมชาติและนำมาผลิตเป็นถุงมือ
ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติได้มีการพัฒนาจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และได้มีการทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตยางของประเทศไทยที่จะสามารถนำกระบวนการผลิตต่าง ๆ ไปใช้การผลิตถุงมือยาง โดยขณะนี้ประเทศไทยสามารถผลิตถุงมือยางชนิดที่โปรตีนต่ำ ถุงมือยางชนิดที่ใส่แล้วไม่เกิดอาการแพ้ เข้าสู่กระบวนการด้านอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว และมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
แต่ในภาคการผลิตภาคการใช้งานนั้นสามารถที่จะดำเนินการได้แล้ว เพราะฉะนั้นการจัดการทั้งในภาคปัจจุบันคือการดูแลหากมีภาวะการแพ้เกิดขึ้นก็สามารถที่จะดูแลได้ การที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตถุงมือยางจากยางธรรมชาติต่อไป และมีกระบวนการผลิตที่จะสามารถผลิตถุงมือยางตามความต้องการตามสเป็คของผู้ซื้อที่จะต้องการถุงมือยาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีโปรตีนแบบปกติหรือโปรตีนต่ำ หรือถุงมือยางที่ไม่มีการเกิดภาวะการแพ้
นางภาราดา จันทร์สุวรรณ ผู้อำนวยการกองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 2 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีสถิติของโรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศไทยประมาณ 40 กว่าโรงงาน และมี 20 กว่าโรงงานเป็นโรงงานใหญ่ที่อยู่ภายใต้สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ใน 20 รายนี้มี 5 ราย ที่เป็นโรงงานใหญ่สามารถผลิตถุงมือยางธรรมชาติที่เป็นโปรตีนต่ำได้แล้วในปัจจุบัน และมีการทำในเชิงพาณิชย์ส่งออกเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งบริษัทเหล่านี้ที่มีโรงงานผลิตถุงมือยางธรรมชาติ ได้มีการผลิตตามมาตรฐานที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กำหนดทุกอย่าง และโรงงานที่มีการส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาทุกโรงงานจะต้องมีมาตรฐาน FDA ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาถึงจะมีการส่งออกไปได้ ซึ่งโรงงานทั้ง 40 โรงงานที่มีอยู่ในประเทศไทย สามารถผลิตทั้งถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเครื่องจักรหรือมาลงทุนเพิ่ม เพียงแต่ปรับสูตรเพื่อที่จะผลิตถุงมือยางธรรมชาติต่อไปได้
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่ในการรับผิดชอบการตลาดต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวกับการตลาดต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ทั่วโลกได้เข้าใจว่าถุงมือยางธรรมชาติของไทยมีความปลอดภัยและมีคุณภาพที่ดี กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการสำคัญในการรองรับสถานการณ์ 3 เรื่องด้วยกัน คือ
1. การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของถุงมือยางไทย เรื่องคุณภาพของถุงมือยาง การรักษ์โลกและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพที่จะสามารถผลิตถุงมือยางธรรมชาติและมีการเกิดการแพ้ที่น้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการ เพื่อให้ผู้ซื้อทั่วโลกมีความมั่นใจว่าถุงมือยางธรรมชาติของไทยมีคุณภาพ
2. การหาตลาดใหม่เพิ่มเติมโดยกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมตลาดเพิ่มเติมไว้คือ ตลาดที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ตลาด Middle East ตลาดประเทศซาอุดีอาระเบีย และตลาดเอเซียใต้ ซึ่งประกอบด้วยประเทศอินเดียเป็นประเทศหลัก และอีกส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นตลาดที่เติบโตและมีประชากรมาก ได้แก่ ตลาดแอฟริกาและตลาดลาตินอเมริกา และกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมอบหมายให้พาณิชย์ทั่วโลกติดตามสถานการณ์และรายงานกลับมา โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดยุโรปที่อาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกัน
นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดูแลประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้ผลิต และมีความห่วงใยในปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมความพร้อม
ซึ่งในขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ เตรียมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสร้างการรับรู้และขยายโอกาสทางตลาดให้กับถุงมือยางธรรมชาติ ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงภาคผู้ประกอบการและเอกชน
ทั้งนายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย และสมาคมยางพาราไทย เพื่อเตรียมวางแผนในการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตสถานการณ์ในส่วนนี้ เนื่องจากการผลิตน้ำยางและการส่งออกน้ำยางของประเทศไทยถือว่าเป็นผลผลิตต้น ๆ ของโลก มีการส่งออกไปต่างประเทศ สหรัฐอเมริการ้อยละ 23 ในส่วนของต้นน้ำ น้ำยางข้นที่อยู่ในประเทศไทยมีประมาณร้อยละ 80 โดยกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน พร้อมที่จะดำเนินการให้ดีที่สุด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประเด็นที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวานนี้ และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้เร่งดำเนินการ รวมถึง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับทางด้านวิชาการ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เพียงแค่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับในประเทศไทยเท่านั้น
คงต้องมีการทำเอกสาร หรือมีการชี้แจงไปในต่างประเทศด้วย เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ถุงมือยางลาเท็กซ์สามารถส่งออกจากประเทศไทย เพื่อดำเนินการเรื่องของการที่อาจจะยกเลิกการห้ามนำเข้าหรือมีการทำความเข้าใจเรื่องของผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น จากการใช้วัสดุต่าง ๆ รวมถึงความปลอดภัยที่มีมาตรฐานการผลิตของประเทศไทย รวมถึงการที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสินค้าส่งออกทุกชนิดไม่ใช่เฉพาะถุงมือยางลาเท็กซ์เท่านั้น