เครือข่ายลดบริโภคเค็มและเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน  เตือนภัย อาหารหวานหนัก มัน เค็มจัด เกลื่อน แอพ หวั่น คนไทยเสี่ยงโรคเรื้อรัง ไต หัวใจ พัง ก่อนวัยอันควร

เครือข่ายลดบริโภคเค็มและเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เผยเตือนภัยเงียบ  จากการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอพ เพื่อนำอาหารมาส่งให้ลูกค้า (Online Food Dedlivery apps หรือ OFD) ควรเพิ่มหรือให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภคเมื่อสั่งซื้ออาหาร หลังผลสำรวจพบว่ามีอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายชนิด มีความหวาน มัน เค็มจัด เกินปริมาณตามเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมแนะอาหารและเครื่องดื่ม ควรคำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้นและควรมีตัวตัวเลือก เช่น เกลือน้อย น้ำตาลน้อย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สั่งอาหารเพื่อเป็นทางเลือกสุขภาพที่ดีให้กับสังคม ลดภาวะเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ก่อนวัยอันควร

รศ.นพ. สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากการสำรวจภายใต้โครงการข้อมูลความเสี่ยงด้านอาหารที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของอาหารพร้อมส่งพร้อมรับประทานยอดนิยมในกรุงเทพฯ ประเทศไทย (NCD dietary risk profile of popular Ready-to-Eat Delivery Foods in Bangkok, Thailand)โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Family Health International (FHI360)

ซึ่งรายงานการวิเคราะห์สารอาหารของอาหารและเครื่องดื่ม 40 รายการ ในแอพพลิเคชั่นอาหารออนไลน์ ปีพ.ศ.2565 แบ่งเป็นอาหารจานเดียว 25 รายการ ขนมหวาน 5 รายการและเครื่องดื่มรสหวาน 10 รายการ ซึ่งการวิเคราะห์สารอาหารเหล่านี้ยังไม่รวมเครื่องปรุง เช่น

น้ำปลาพริก น้ำจิ้ม พบ อาหารจานเดียว 23 รายการ จากทั้งหมด 25 รายการ มีปริมาณโซเดียมสูงกว่า 0.6 กรัมต่อมื้อ ตามที่กรมอนามัยแนะนำให้บริโภคโดยอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงสุด คือ ส้มตำปูปลาร้า มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 5 กรัม ต่อ 1 จาน ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 2 กรัม ต่อวัน ซึ่งหมายความว่าส้มตำปูปลาร้า 1 จาน มีปริมาณความเค็มสูงเกือบ 3 เท่า ของการบริโภคโซเดียมตลอดหนึ่งวัน หรือคิดเป็นปริมาณโซเดียมสูงมากถึง 8 เท่าต่อ 1 มื้อ

อีกทั้งยังพบปริมาณโซเดียมสูงมากเกินกว่า 0.6 กรัม ต่อมื้อ ในกาแฟเย็น ซาลาเปาไส้หมูสับ ชิฟฟอนใบเตยและปาท่องโก๋ นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข

ด้าน ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวเสริมว่า ในส่วนของเครื่องดื่มรสหวาน จาก 10 รายการ มีจำนวน 8 รายการที่มีน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 25 กรัมต่อวันและมีเพียงเมนู 2 รายการเท่านั้น คือ

อเมริกาโน่เย็นและน้ำเต้าหู้ที่มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยไม่ถึง 16 กรัม ชาน้ำผึ้งมะนาวมีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 53.1 กรัม ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลเกิน 2 เท่า ต่อ 1 วัน หรือ เทียบเท่าน้ำตาลเกือบ 13 ช้อนชา หากคิดต่อ 1 มื้ออาหารควรมีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 8 กรัมต่อมื้อ ซึ่งทั้ง 10 รายการ มีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัมต่อมื้อ

โดยชาน้ำผึ้งมะนาว มีปริมาณน้ำตาลเกือบ 7 เท่า ต่อมื้อ ซึ่งถือว่าปริมาณน้ำตาลเกินกว่าความต้องการของร่างกายในแต่ละมื้อ

อีกทั้งเครื่องดื่มรสหวานเหล่านี้ยังเป็นพลังงานว่างเปล่าหรืออาหารที่แทบจะไม่มีสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ให้พลังงานหรือมีปริมาณแคลอรี่ที่สามารถทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ไม่เพียงเครื่องดื่มรสวานที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์ที่แนะนำเท่านั้น

อาหารจานเดียว เช่น ส้มตำไทย หมูปิ้ง ไข่พะโล้และของหวานอย่าง  ชิฟฟ่อนใบเตยและไอศกรีมกะทิสด ยังมีปริมาณน้ำตาลสูงมากต่อมื้อและสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอีกด้วย

ด้าน รศ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรบริโภคไขมันเกิน 30 % ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน หรือคิดเป็นปริมาณไขมันต่อ 1 มื้อ เฉลี่ยอยู่ที่ 25 กรัมและอาหารทีมีไขมันสูง เช่น หมูสามสั้นทอด มีไขมันเฉลี่ยสูงถึง 67.1 กรัม ซึ่งถือว่ามีปริมาณไขมันสูงเกือบ 3 เท่าต่อมื้อ หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วัน ส่วนหมูปิ้ง (55.6 กรัม) คอหมูย่าง (48.6 กรัม) มีปริมาณไขมันเกินถึง 2 เท่า ต่อมื้อ และคิดเป็นร้อยละ 71 และ ร้อยละ 62 ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับตลอดทั้งวัน

ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารที่นำไปทอด ไขมันที่ได้จากอาหารเหล่านี้เป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งจัดเป็นไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพและการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากเกินไป อาจทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจตามมา ดังนั้นการแสดงปริมาณสารอาหารโดยเฉพาะเกลือ น้ำตาลและไขมัน ในรายการอาหารบนแอพพลิเคชั่นอาหารออนไลน์ จะสามารถช่วยให้ผู้บริโภคทราบถึงปริมาณสารอาหารดังกล่าว

นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นอาหารออนไลน์ควรเพิ่มหรือให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภคในการกรองตัวเลือกเมื่อสั่งซื้ออาหาร เช่นส้มตำ ควรมีตัวเลือก เกลือน้อย น้ำตาลน้อย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สั่งอาหารโดยคำนึงถึงสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น

ด้าน ทพญ.จิราพร ขีดดี ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า อาหารที่มีไขมันสูงมักจะให้พลังงานหรือแคลอรี่สูงตามไปด้วย เช่น ชิฟฟ่อนใบเตย มีปริมาณไขมันสูงมาก เฉลี่ยประมาณ 65.3 กรัม ให้พลังงานสูงถึง 1,098.8 แคลอรี่ ซึ่งสูงเกินครึ่งหนึ่งของปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการขององค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ 2,100 แคลอรี่ต่อวัน ถ้าคิดเป็น 1 มื้อ ควรได้ปริมาณพลังงานประมาณ 600 แคลอรี่

ขนมดังกล่าวมีปริมาณพลังงานเกินเกือบ 2 เท่าต่อมื้อหรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน อีกทั้ง การบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มสูง เหล่านี้และหากบริโภคบ่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคเบาหวาน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้


Written By
More from pp
ประกันสังคมชู “เฮลธ์ตี้ ไทยแลนด์” ลดเจ็บป่วยจากการทำงาน
25 มิ.ย.63 นนทบุรี – ประกันสังคม ชูนโยบายเชิงรุก หนุนโครงการ ‘เฮลธ์ตี้ ไทยแลนด์ เพื่อผู้ประกันตน‘ ดูแลสุขภาพของแรงงานในสถานประกอบการทั่วประเทศ มุ่งหวังดูแลแรงงานให้มีสุขภาพที่ดี...
Read More
0 replies on “เครือข่ายลดบริโภคเค็มและเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน  เตือนภัย อาหารหวานหนัก มัน เค็มจัด เกลื่อน แอพ หวั่น คนไทยเสี่ยงโรคเรื้อรัง ไต หัวใจ พัง ก่อนวัยอันควร”