กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ลงพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งสนับสนุน“ชุดนายสะอาด” อุปกรณ์และสิ่งของที่จำเป็นเบื้องต้น พร้อมแนะนำวิธีการใช้ให้กับประชาชนที่ประสบภัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ว่า กรมอนามัยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแลสุขภาพตนเองให้ปลอดภัยในช่วงนี้
พร้อมทั้งสนับสนุนสิ่งของและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดการขยะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคที่จะตามมา โดยเบื้องต้นได้จัดส่ง “ชุดนายสะอาด” ซึ่งภายในประกอบด้วย ถุงดำขนาดเล็ก ถุงดำขนาดใหญ่ หยดทิพย์ เจลล้างมือ สารส้มก้อน น้ำยาล้างจาน ถุงซิปล็อค และเอกสารคำแนะนำต่าง ๆ จำนวนกว่า 200 ชุด พร้อมสาธิตวิธีการใช้ให้กับพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ศูนย์อนามัยส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ แก่ผู้ปฏิบัติงานบริเวณจุดอพยพหรือศูนย์พักพิงให้เข้าใจวิธีการจัดการสุขาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันโรคระบาด ดังนี้
1.ที่นอนหรือที่พัก ควรมีลักษณะพื้นเรียบ การระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอ และกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด 2. การทิ้งขยะ ต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารทำด้วยวัสดุ ไม่รั่วซึม เช่น พลาสติกที่มีฝาปิด และควรแยกขยะเป็นสองถังคือ ถังขยะเปียกและถังขยะแห้ง เพื่อง่ายต่อการกำจัด โดยรวบรวมขยะมูลฝอยใส่ในถุงดำและมัด ปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งในจุดที่กำหนดไว้
3. สถานที่ปรุงประกอบอาหารหรือครัวควรระบายอากาศได้ดี แยกห่างจากที่นอนหรือที่พัก เพื่อป้องกันกลิ่น แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค มีโต๊ะหรือชั้นสำหรับเตรียม ปรุงอาหาร ไม่วางไว้กับพื้น อาหารต้องมีฝาปิดให้มิดชิด เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ เป็นต้น 4.สถานที่รับประทานอาหาร ควรอยู่ใกล้กับที่ปรุงอาหาร เพื่อความสะดวก สะอาด และถูกสุขลักษณะ และ 5. ห้องส้วม ควรแยกชาย–หญิง และให้ขับถ่ายในส้วมที่ยังใช้ งานได้ ห้ามขับถ่ายลงแหล่งน้ำเด็ดขาด”
“ทั้งนี้ ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ควรถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย และให้จอดรถห่างจากต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ แต่หากอยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างทุกบานและอยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด เพื่อลดอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด