15 ก.ค. 63 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “BCG : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธี ลงนามความร่วมมือ
โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ร่วมลงนามรวม 18 หน่วยงาน โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมงานด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการประชุมสมัชชา BCG ในวันนี้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการตามรัฐบาลวิถีใหม่ ที่ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ร่วมคิด ร่วมวางแผนอนาคตไทย ทำงานเชิงรุก ก้าวไปข้างหน้าด้วยพลังของคนไทย ร่วมกันสร้างชาติ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
เช่น การเกษตรแนวใหม่หรือทฤษฎีใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าและไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม การประยุกต์วัสดุเหลือใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ การบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสอดคล้องกับปริมาณฝนและปริมาณแหล่งน้ำในระบบน้ำต่างๆ โรงไฟฟ้าและพลังงานต่างๆโดยพืชพลังงาน เป็นต้น โดยรัฐบาลพร้อมทำความเข้าใจและร่วมมือกับประชาชนขับเคลื่อนการทำงานในลักษณะ New Normal หรือโลกยุคใหม่ โดยสนับสนุนงบประมาณ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำให้ไทยก้าวข้าม “กับดับประเทศรายได้ปานกลาง” และลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ยาและเวชภัณฑ์ ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงจากโรคระบาดในคน สัตว์และพืช ตอบโจทย์ประเทศไทยในยุคหลังสถานการณ์โควิดสร้างรายได้ประเทศในอนาคตให้สูงขึ้นอีกด้วย
นายกรัฐมนตรียังเน้นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดรับกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางการสร้างความเข้มแข็งด้วย “บวร” เพื่อโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ครอบคลุมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ6 ด้านเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคง มั่นคั่ง อย่างยั่งยืน ด้วยบูรณกาแผนงานให้สอดคล้องและกัน เป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ภายในระยะเวลา 5ปี 10 ปี ที่ตามที่กําหนดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่วนการดำเนินงานรายปีก็จะการกำหนดเป้าหมาย โครงการ/แผนงาน การใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปีอย่างรอบครอบและโปร่งใสด้วย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า การทำงานวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ ยุคหลังจากโควิด-19 โดยมุ่งมั่นเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสของประเทศ เน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ให้ประเทศไทยและคนไทยมีความมั่นคงทั้งด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน ประชาชนมีงานทำ เพื่อนำไปสู่การสร้างงานและโอกาสใหม่ของประเทศ พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ตามแนวทางการทำงาน “รวมไทยสร้างชาติ”