‘วัคซีนโควิด’ ที่เท่าเทียม เพื่ออนาคตที่ปลอดภัย

“สุขภาวะที่ดีสำหรับผู้ป่วยทุกคน เริ่มต้นด้วยการปกป้องพวกเขาอย่างเต็มที่ ผ่านการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม”

“สุขภาวะที่ดีสำหรับผู้ป่วยทุกคน เริ่มต้นด้วยการปกป้องพวกเขาอย่างเต็มที่ ผ่านการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม”

แต่ถึงกระนั้น นับตั้งแต่มีการประกาศให้โรคติดเชื้อโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น การใช้วัคซีนก็ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้การจัดสรรบริการวัคซีน ‘ไม่ฟรี’ เหมือนในอดีต

ทำให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง 608 ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่

โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน รวมทั้งสตรีมีครรภ์ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อปกป้องตนเอง และกลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงวัคซีน

คำถามคือ ที่ว่าเสี่ยงนั้นมากขนาดไหน? ก็ถึงขนาดที่ว่า อัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโควิด 19 เพิ่มขึ้นกว่าคนปกติ ตั้งแต่ 2 – 5 เท่าตามกลุ่มโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงต่อป่วยหนักหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนมากที่สุด ในช่วงที่มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ของเชื้อ

และยิ่งในช่วงที่มีการเดินทาง ผู้คนหนาแน่น ไปมาหาสู่กันปลายปีเช่นนี้ เป็นช่วงเวลาที่มีแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากไม่เตรียมพร้อมรับมือ ไม่เพียงแค่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ยังกระทบต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เผชิญความยากลำบากไปด้วย

ชมรมกลุ่มโรคเรื้อรัง และประชาชนกลุ่มเสี่ยง เข้ายื่นหนังสือต่อ นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์

กลุ่มตัวแทนชมรมกลุ่มโรคเรื้อรัง และประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้เล็งเห็นความสำคัญ และความเร่งด่วน ในเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั้งต่อการรับรู้ข่าวสุขภาพ และการป้องกันโรคโควิด 19 โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้พิจารณาข้อเรียกร้องสำคัญ ได้แก่

• ป้องกัน “ข่าวปลอม” ในยุคที่ปัจจุบันการไหลผ่านของข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว และยากต่อการควบคุม โดยเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้ความรู้เรื่องโรคโควิด-19 ต่อสังคมอย่างถูกต้อง ผ่านช่องทางที่ตรวจสอบและอ้างอิงจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้

• สนับสนุนช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข หรือแพลตฟอร์มและประกาศข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ที่มีการจัดการโดยภาครัฐ หรือสภาวิชาชีพการแพทย์

• ที่สำคัญคือ เสนอให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโควิด 19 ด้วยวัคซีนในกลุ่มเปราะบาง 608 โดยให้กับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนไม่ครบ ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมานานเกิน 3 เดือน เป็นไปตามคำแนะนำของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

นอกจากนี้แล้ว ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมเปิดเวทีเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ถกประเด็นผลกระทบของโรคและความจำเป็นในการดูแลป้องกันสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง ตอกย้ำถึงความรุนแรงของเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงสูง

ที่ไม่เพียงแต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ยังส่งผลต่อภาวะโรคที่คนไข้เป็นอยู่เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปได้ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

พร้อมเน้นย้ำว่ากลุ่ม 608 ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน และไม่ขึ้นกับว่าเคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจำนวนเท่าใด

อีกทั้งให้ความมั่นใจว่าวัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัยและเสี่ยงน้อยกว่าป่วยเป็นโควิด และหากชั่งน้ำหนักแล้วประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนมีมากกว่าโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงซึ่งแทบจะเทียบกันไม่ได้

เวทีเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ถกประเด็นผลกระทบของโรคและความจำเป็นในการดูแลป้องกันสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง

ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับคือ เรามีโอกาสเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ได้ตลอดเวลา และโควิด19 มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไปนานแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้

กลุ่มผู้เปราะบางและมีความเสี่ยงสูงจึงมีความจำเป็นที่ต้องรับ ‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตประมาณ 60-70% แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้

อีกทั้งลดภาระของระบบสาธารณสุข ขณะกลุ่มเสี่ยงก็พร้อมหากได้รับโอกาส สะท้อนจากผลสำรวจโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย หรือ THOHUN (Thailand One Health University Network) ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1 ใน 3 (39%) มีความต้องการที่จะเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หากมีบริการฟรีให้แก่ประชาชน

ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงในแถบเอเชีย อาทิ ไต้หวันและสิงคโปร์ ยังคงแนะนำให้ประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง รับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ทั้งยังจัดหาวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงได้ฉีดฟรี

เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป รวมไปถึงอังกฤษ ที่มีคำแนะนำให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากได้รับเข็มสุดท้าย หรือติดเชื้อมานานกว่า 3 เดือน โดยรัฐดำเนินการจัดหาให้ฉีดฟรีเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับกลุ่ม 608 โดยแนะนำเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน

ดังนั้น ‘จะปลอดภัย เมื่อเปลี่ยนแปลง’ และการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งจำเป็น เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

Written By
More from pp
“ลูกวัน” แนะรัฐขอความรู้ “พ่อเหลิม” หากคิดแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง
“วัน”แนะรัฐขอความรู้ “เฉลิม” หากคิดแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง อัดยุค “ประยุทธ์” ยาบ้าราคาตกสวนทางสินค้าขึ้น หาซื้อง่ายกว่าลูกอม
Read More
0 replies on “‘วัคซีนโควิด’ ที่เท่าเทียม เพื่ออนาคตที่ปลอดภัย”